top of page

การปรับปรุงอาคารเพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากอัคคีภัย


เนื่องจากความล้าหลังของกฎหมายและมาตรฐานความปลอดภัยในอาคาร ทำให้อาคารสาธารณะ อาคารสูง และ อาคารขนาดใหญ่ ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ ไม่ปลอดภัย และเสี่ยง ต่อการสูญเสีย ชีวิตจาก อัคคีภัย ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจาก ความไม่เข้าใจปัญหา เพราะ เรื่องของ อัคคีภัย เป็นเรื่อง ที่เกี่ยวข้อง กับเทคนิค และการก่อสร้าง เป็นเรื่องสาธารณะที่ต้องเสียสละ ต้องเสียเงิน และ ไม่ได้ สร้างรายได้ โดยตรง หรือ ที่เห็น ได้ชัดเจน ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจเป็นเช่นนี้ ก็ยิ่งพูดกันยาก เรื่องความปลอดภัยจึงมักจะเป็นเรื่องที่อยู่ท้ายๆเสมอ

เหตุ ของ การเกิด อัคคีภัยส่วนมากเกิดจากการต่อเติมภายในอาคาร การนำวัสดุติดไฟ การนำก๊าซและสารไวไฟเข้ามาในอาคาร และ ตามที่มักจะเข้าใจว่า อัคคีภัย เกิดจากไฟฟ้า ลัดวงจรนั้น โดยความเป็นจริงพบว่า มีสถิติของ เหตุอัคคีภัย จากไฟฟ้าลัดวงจรจริงเพียง 2-3 % เท่านั้น

อัคคีภัย มักจะเกิดจาก ความประมาท และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มักจะลุกลามไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจาก อาคารเก่ามักจะมีวัสดุที่ติดไฟได้ง่าย เช่น เคร่าไม้ ไม้อัด รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ พรม ผ้าม่าน กระดาษ กองวัสดุ และมีสาเหตุอันเนื่องมาจากการขาดการดูแลอาคารที่ดี อาคาร ส่วนใหญ่ เจ้าของ มักจะสนใจเฉพาะช่วงก่อสร้าง แต่ไม่สนใจดูแลอาคาร สร้างเสร็จแล้ว ก็แล้วกัน อาคารจำนวนมาก เมื่อลองเดินสำรวจ จะ สงสัยว่าอยู่กันได้อย่างไร

อาคารราชการ เนื่องจากไม่ต้องผ่านขั้นตอนการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร กลับกลาย เป็นตัวอย่างของอาคาร ที่ไม่ปลอดภัยจำนวนมาก แม้กระทั่ง อาคารของ กระทรวงมหาดไทย กรมโยธาธิการ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่ง ล้วนแล้วแต่ เป็นหน่วยงาน ที่กำกับ ดูแล ทางด้าน ความปลอดภัย ก็เป็นอาคารที่ไม่ปลอดภัย ในเมื่อเป็นเช่นนี้ จึง สร้าง ความลำบาก ที่จะไปบอกให้ อาคารเอกชน ต้องมี มาตรฐาน ความปลอดภัย ส่วน พรบ.ควบคุมอาคาร ก็ควบคุมเฉพาะการก่อสร้างอาคาร ไม่ได้ควบคุมการใช้อาคาร กฎหมาย ยังมีข้อจำกัด ในเรื่องทางเทคนิค เนื่องจากเรื่องทางเทคนิคมีรายละเอียดมาก มีศัพท์เทคนิค ซึ่งบางครั้งก็ไม่มีใน สมุดคำศัพท์ ของ ราชบัณฑิตฯ กฎหมาย จึงกำหนดได้เฉพาะ หลักการ กว้างๆ และมีข้อกำหนดทางด้านเทคนิคเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพราะ เมื่อกำหนด แม้แต่ ในระดับกฎกระทรวง แล้ว การแก้ไขก็จะทำได้ยาก เพราะต้องผ่านขั้นตอนของกฤษฎีกา ส่วนประกาศ กระทรวง ซึ่งเจ้ากระทรวง เป็นผู้มีอำนาจออก ก็ต้องได้รับอำนาจ จาก กฎกระทรวงที่ระบุไว้ให้เจ้ากระทรวงเป็นผู้ออกประกาศในเรื่องนั้นเท่านั้น นับว่าเป็นกฎหมาย ในระดับที่ รองลงมาและจะต้องไม่ขัดกับกฎหมายในระดับสูงขึ้นไป ในทางปฏิบัติ จึงมีการนำมาตรฐานมาใช้อ้างอิงอีกด้วย การลุกลาม ของไฟอาศัยไป ตามช่องฝ้าเพดาน ช่องท่อสุขาภิบาล ท่อระบายอากาศ ท่อแอร์ บันได ช่องลิฟต์ และช่องเปิดต่างๆ ที่เป็นช่องอากาศ โดยอาศัย ปรากฏการณ์ปล่องไฟ และ เปลวไฟ จะเดินทางข้ามจาก ที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ข้ามจากชั้นหนึ่ง ไปยังอีกชั้นหนึ่งได้ เสมือน เปลวไฟนั้นมีชีวิต นอกจากนี้ไฟยังไม่จำเป็นต้องลามขึ้นสู่ด้านบนเท่านั้น ไฟยังลามลงล่าง ได้ด้วย หากมี ความร้อนสูง และ มีความดันของ ก๊าซที่ร้อน

รูปที่ 1 ตัวอย่างการลุกลามของไฟผ่านตามช่องบันได ช่องลิฟท์ และช่องเปิดต่างๆ กรณีไฟไหม้โรงแรมรอยัล จอมเทียน พัทยา

การที่มีผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่ก็มักจะเสียชีวิตเนื่องจากการสูดควันไฟที่ประกอบด้วยคาร์บอนมอนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์คลอรีน และ สารพิษ ที่เกิดจากการเผาไหม้ เนื่องจากหนีไม่ทัน และไม่มีระบบการควบคุมควันไฟ

ก๊าซพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ มักจะเกิดจากวัสดุสังเคราะห์ พลาสติก ไฟเบอร์พลาสติก พีวีซี โฟม ซึ่งจะพบมากในพวกวัสดุตกแต่ง เช่น ในศูนย์การค้า สวนสนุก บางแห่งมีการนำไฟเบอร์พลาสติกหรือที่เรียกกันว่าไฟเบอร์กลาสมาใช้ทำช่องแสงห ลังคา เมื่อติดไฟ ไฟเบอร์พลาสติก นี้จะกลายเป็น หยดลูกไฟตกลงมา หากถูกอะไรก็จะทำให้สิ่งนั้นติดไฟต่อไปอีก หรือ ในโรงแรม ที่ใช้พรม และ ผ้าม่าน รวมทั้งเครื่องนอน ที่ติดไฟ และ ก่อให้เกิดก๊าซพิษ

อาคารที่ ปลอดภัย จะต้อง เป็นอาคารที่มีระบบการแบ่งพื้นที่ป้องกันที่ดี มีทางหนีไฟที่ดี มีระบบการควบคุมควันไฟที่ดี และ มีระบบป้องกัน อัคคีภัยที่ดี สมบูรณ์ ในทุกๆด้านตามที่ท่าน ได้อบรมกันมา ทั้งหมดในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องยาก อย่าว่าแต่อาคารเก่าเลย แม้แต่ อาคารใหม่ บางท่านก็ยังบอกว่าการที่จะทำให้มีระบบป้องกันอัคคีภัยที่สมบูรณ์ นั้นก็เป็นไปได้ยาก ดังนั้น เป้าหมายของ การดำเนินการ เพื่อให้ อาคารมีมาตรฐาน ความปลอดภัย ที่สูงขึ้นโดยเฉพาะ อาคารเก่า นั้น จึง ต้องอยู่ในเกณฑ์ ที่ยอมรับได้ และ เป็นไปได้ ในทางปฏิบัติ ยกเว้นเรื่องสำคัญๆที่เกี่ยวกับตัวอาคารที่จะต้องทำให้ได้ คือ เรื่องผนังกันไฟ ทางหนีไฟ และบันไดหนีไฟ ที่เป็นเรื่องที่ จะต้องปฏิบัติ ให้ถูกต้อง เพราะ หากขาดองค์ประกอบของความปลอดภัยที่ว่านี้ จะถือว่าอาคารนั้นปลอดภัยไม่ได้เลย เป็นที่น่าเสียดาย ที่ ทางราชการ เพิ่งจะเริ่มมาให้ความสำคัญกับอาคารเก่าที่ไม่ปลอดภัย โดยมีสาเหตุมาจากเหตุอัคคีภัยที่โรงแรมรอยัล จอมเทียน พัทยา ซึ่งหากไม่มีเหตุการณ์นี้และ ไม่มีผู้เสียชีวิตกว่า 90 คนที่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงเสียชีวิตด้วย ก็ยังอาจจะ ยังไม่มี อะไรเกิดขึ้น และ ก็เป็นที่น่าเสียดาย ที่มาตรการต่างๆที่กำลังจะดำเนินการกันอยู่นี้ เกิดขึ้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำสุดขีด จึงทำให้ เป็นอุปสรรค อย่างมากต่อ การดำเนินมาตรการ เนื่องจาก การปรับปรุงอาคาร จะต้องมีการลงทุนเพิ่ม เป็นการลงทุนเพื่อความปลอดภัย แต่ไม่รู้จะเอาเงิน ที่ไหนมา เพราะคอนโดมิเนียมซึ่งส่วนใหญ่ไม่ปลอดภัย แม้แต่เงินค่าบริการส่วนกลาง ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ก็ยังจัดเก็บไม่ค่อยจะได้อยู่แล้ว

แนวทางการปรับปรุงอาคารเก่า

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า อาคารเก่า จำนวนมากไม่ปลอดภัย และการปรับปรุงอาคารเหล่านี้ให้มีมาตรฐานความปลอดภัยที่ดี มักจะเป็นเรื่องยาก ในบางกรณีก็ทำไม่ได้ และมักจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง เนื่องจาก อุปสรรคทางด้านโครงสร้างอาคาร หรืออาคารยังใช้งานอยู่ และ ในขณะที่ ดำเนินการก็ต้องระวังไม่ให้มีการเชื่อม ไม่มีสีหรือทินเนอร์ในปริมาณมากและไม่ให้คนงานสูบบุหรี่ ภายในอาคาร ที่อาจจะเป็น สาเหตุ ของ อัคคีภัยได้

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่กฎหมายเดิมไม่เอื้ออำนวยให้มีการปรับปรุงอาคารและ ถือว่าเป็นการดัดแปลงอาคาร และ หากเข้าข่าย การดัดแปลง อาคาร ทำให้การปรับปรุงต้องทำตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) และ กฎกระทรวงฉบับที่ 50 (2540) ทันที รวมทั้ง ข้อกำหนดอื่นๆ ที่ทำให้อาคารเก่าที่มีการดัดแปลงต้องถูกรื้อทิ้งโดยปริยาย ใน ปัจจุบัน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี และกรุงเทพมหานครฯ กำลังดำเนินการให้มีการตรวจสอบอาคาร และในอนาคต กรมโยธาธิการ ยังจะดำเนินการให้มีมาตรการต่ออายุการใช้งานของอาคาร โดยจะต่ออายุให้ต่อเมื่อผลการตรวจสอบอาคารพบว่าอาคารนั้นปลอดภัย ซึ่งในปัจจุบันเฉพาะอาคาร ประเภท โรงแรมที่ต้องมีการต่อใบอนุญาตประจำปีเท่านั้น

ในเมื่ออาคารเก่าที่มีอยู่เป็นจำนวนมากไม่ปลอดภัย และกำลังจะมีมาตรการบังคับให้อาคารเหล่านี้ ต้องปรับปรุงระบบความปลอดภัย จึงต้องมีการศึกษาวิธีการในการปรับปรุง บนพื้นฐานของหลักวิชาการประกอบกับความเป็นไปได้ ซึ่งยากกว่า การดำเนินการ สำหรับอาคาร ที่ออกแบบใหม่ เพราะหากไม่มีการพิจารณาในลักษณะนี้ ก็จะไม่ได้รับการยอมรับและความร่วมมือจาก เจ้าของอาคาร และ อาจ จะถูกมองว่า เป็นมาตรการที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ประพฤติมิชอบอีกทางหนึ่งได้

บทความนี้ ได้นำเสนอตัวอย่างของปัญหาความปลอดภัยในอาคารเก่าพร้อมทั้งแนวทางแก้ไขปรับปรุง บน พื้นฐาน ของหลักวิชาการ ประกอบกับ ความเป็นไปได้ ดังที่ได้กล่าวแล้ว และหวังว่า ในอนาคตจะได้มีการพัฒนาบทความลักษณะนี้ประกอบกับกรณีศึกษาต่อไป จนสามารถนำไปใช้เป็นบรรทัดฐานสำหรับการปรับปรุงอาคารเก่าที่มีอยู่เป็นจำนวน มากต่อไป

นโยบายความปลอดภัยจากอัคคีภัย

เนื่องจากความยากลำบากในการดำเนินการปรับปรุงและการที่ต้องใช้งบประมาณ ทำให้การดำเนินการมักจะมีอุปสรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้บริหารและเจ้าของอาคารไม่ได้เข้ามารับรู้และฝ่ายช่างหรือผู้รับผิดชอบต้องขอความเห็นชอบจากผู้บริหารหรือเจ้าของอาคารอยู่ตลอด เวลา ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการปรับปรุงมีแนวทางที่ชัดเจน และ มีความมั่นคง จึงควรกำหนด นโยบายความปลอดภัยจากอัคคีภัย ( FIRE POLICY ) ไว้ตั้งแต่เริ่ม โครงการ โดยให้ผู้บริหารลงนามรับรองไว้ด้วย ถือว่าเป็นการรับรู้ และ เป็นการทำความตกลง ในการดำเนินการปรับปรุงอาคาร ให้ปลอดภัย ขั้นตอนนี้ นับว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญ และได้ช่วยให้หลายๆโครงการที่มีความยุ่งยาก สามารถฟันฝ่าความยุ่งยากและอุปสรรคต่างๆไปได้ จน ประสบความสำเร็จ มาแล้ว การดำเนินการ ปรับปรุงอาคาร ทางด้าน ความปลอดภัยนี้ จะต้องเด็ดขาด ชัดเจน และจะดำเนินการแบบครึ่งๆกลางๆไม่ได้ (ตามตัวอย่างที่แนบท้ายมานี้)

การสำรวจ

การสำรวจอาคารมีจุดประสงค์เพื่อให้ได้ข้อมูลดังนี้คือ 1. สถานะของอาคารทางด้านความปลอดภัยจากอัคคีภัย 2. ข้อแนะนำในการปรับปรุงอาคาร 3. งบประมาณในการปรับปรุง

นอกจากนี้ ยังอาจจะรวมถึงแผนงานด้วย ข้อมูลต่างๆเหล่านี้เป็นข้อมูลที่จำเป็นในการกำหนดนโยบายความปลอดภัย การตัดสินใจและการจัดหางบประมาณรวมทั้งการกำหนดขั้นตอนการทำงาน ในกรณีที่มีงบประมาณจำกัด ก็สามารถที่จะเลือกดำเนินการในส่วนที่มีความสำคัญก่อนหลังได้ ในอนาคต เมื่อมีกฎหมายบังคับให้มีการตรวจอาคารก่อนการขออนุญาตต่ออายุอาคาร ก็เท่ากับการให้มีการสำรวจอาคารประจำปี หรือเมื่อการประกันภัยเป็นระบบมากขึ้น ก็จะต้องมีการสำรวจก่อนที่จะกำหนดค่าเบี้ยประกัน อาคารที่ผ่านการตรวจ ยังไม่ใช่เครื่องประกันว่าอาคารนั้นปลอดภัย และจะต้องมีการดูแลให้ระบบความปลอดภัยต่างๆ อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตลอดเวลาด้วย โดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ระบุว่าสถานประกอบการที่มีพนักงานเกินกว่า 50 คน จะต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยที่ผ่านการอบรมจากกรมสวัสดิภาพและคุ้มครองแรงงานประจำสถานประกอบการด้วย เพื่อให้ทำหน้าที่ดูแลในด้านความปลอดภัยประจำวัน และประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องเมื่อเกิดเหตุ ในขณะนี้ กรุงเทพมหานครก็กำลังดำเนินการขึ้นทะเบียนผู้ตรวจอาคาร และได้ขอให้สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯช่วยเหลือในการจัดทำแบบการตรวจอาคาร รวมทั้งการจัดการอบรมให้กับผู้ตรวจอาคาร ดังนั้นจึงคาดว่าจะต้องมีอาคารเก่าที่จะต้องปรับปรุงเป็นจำนวนมาก บทบาทของกรมการประกันภัยและสมาคมประกันวินาศภัยในอนาคต ก็จะต้องมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับการกำหนดเบี้ยประกันที่จะต้องมีหลักเกณฑ์ ไม่ทำตัวเป็นเพียงนายหน้ารับประกันอย่างปัจจุบัน รวมทั้งการที่จะให้มีการประกันภัยบุคคลที่ 3 มาตรการตรวจอาคารจะสามารถเข้ามาเสริมในการคำนวณค่าเบี้ยประกันในอนาคต

กฎกระทรวงฉบับที่ 47

สาระสำคัญในการปรับปรุงอาคารเก่า ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 47(พ.ศ.2540) มีดังนี้

1. บันไดหนีไฟ

เป็นที่ทราบกันดีว่า อาคารที่ปลอดภัยนั้น ต้องเริ่มจากการที่อาคารนั้นมีโครงสร้างที่ปลอดภัยเสียก่อน และระบบป้องกันอัคคีภัยต่างๆนั้น เป็นเพียงระบบเสริมความปลอดภัยและช่วยอุดช่องโหว่ในส่วนของโครงสร้างที่อาจจะไม่สมบูรณ์เท่านั้น หัวใจที่สำคัญมากที่สุดในส่วนของความปลอดภัยของตัวอาคาร ประกอบด้วย 1. การทนไฟของโครงสร้างอาคาร 2. การจัดให้มีพื้นที่ป้องกัน 3. การติดไฟของวัสดุประกอบอาคาร 4. ทางหนีไฟ 5. บันไดหนีไฟ ทั้งนี้ บันไดหนีไฟ เป็นเรื่องที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาอยู่เสมอ เนื่องจาก ทุกคนใช้บันได และบันไดในอาคารจำนวนมากล้วนแต่มีปัญหา

รูปที่ 2 ปัญหาบริเวณทางหนีไฟ

ปัญหา ของบันไดหนีไฟในอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่ เกิดจากการที่สถาปนิกไม่ได้ให้ความสำคัญกับการใช้งานของบันไดหนีไฟ ที่ต้องใช้งานได้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ส่วนใหญ่จะออกแบบตามที่กฎหมายควบคุมอาคารกำหนดไว้เท่านั้น เป็นการออกแบบโดยการตีความตามกฎหมายโดยไม่ได้พิจารณาจุดประสงค์ของการใช้งาน ของบันไดหนีไฟ จึงพบว่า มีบันไดหนีไฟ และบันไดที่ไม่มีการปิดล้อม บันไดไม่ได้ขนาด การเปิดประตูขวางการหนีไฟ ไม่มีการป้องกันควันเข้าสู่บันได ประตูหนีไฟไม่ได้มาตรฐาน การเกิดอัคคีภัย ไม่ว่าจะเป็นที่โรงแรมเฟิร์ส หรือโรงแรมรอยัลจอมเทียน และในอีกหลายครั้งที่ผ่านมา พบว่า บันได กลายเป็นปล่องไฟ และเป็นช่องทางให้ควันไฟและความร้อนขึ้นสู่ชั้นต่างๆของอาคารได้อย่างรวดเร็ว จากการสำรวจของกรุงเทพมหานครฯ และเทศบาลในจังหวัดต่างๆ พบว่า ยังมีอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่ที่ไม่ปลอดภัยอยู่อีกเป็นจำนวนมากนับพันหลัง และผลการสำรวจพบว่าเกือบทั้งหมด มีบันไดและบันไดหนีไฟที่ไม่ปลอดภัย อาคารเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นอาคารเก่า และสร้างก่อนกฎกระทรวงฉบับที่ 33(2535) จะบังคับ จึงไม่ได้มาตรฐาน และยากต่อการแก้ไขปรับปรุงให้ปลอดภัย นอกจากนี้ การเพิ่มบันไดหนีไฟล้ำออกมานอกอาคาร ยังอาจจะไปเข้าข่ายการดัดแปลงอาคารอีกด้วย กรมโยธาธิการได้เห็นความสำคัญในข้อนี้ จึงได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 47 โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2540 กำหนดให้อาคารจะต้องมีบันไดหนีไฟ และการติดตั้งบันไดหนีไฟไม่ถือว่าเป็นการดัดแปลงอาคาร พร้อมทั้งแนะนำให้ทำการปิดล้อมบันได และช่องท่อแนวดิ่งต่างๆ บันไดหนีไฟคือองค์ประกอบที่สำคัญของทางหนีไฟ ซึ่งมีหลักการว่าจะต้องต่อเนื่อง เป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่สามารถใช้หนีไฟออกสู่นอกอาคารได้อย่างปลอดภัย หลักการนี้ นับว่าเป็นหลักการพื้นฐานและเข้าใจกันโดยทั่วไป แต่ก็ยังมักมีการหลีกเลี่ยงและทำเสมือนหนึ่งไม่เข้าใจในหลักการนี้ ด้วยการกั้นห้องขวางบันได เอาประตูหนีไฟไปไว้ในห้อง มีทางหนีไฟผ่านห้องครัว ห้องเก็บของ ซึ่งเป็นอุปสรรคกับการหนีไฟ ดังบทเรียนที่โรงแรมรอยัลจอมเทียน ซึ่งประตูห้องเก็บของถูกล็อกด้วย เนื่องจากกลัวของหาย การหนีไฟจะต้องหนีลงสู่ชั้นล่างของอาคาร เนื่องจากการหนีไฟทางอากาศนั้นมีความเสี่ยงสูง และช่วยคนได้เพียงไม่กี่คน บันไดหนีไฟที่ดีที่สุด คือบันไดมาตรฐานปกติที่มีชานพัก ทุกระดับความสูงไม่เกิน 3 เมตรนั่นเอง และสำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีปัญหาอากาศหนาวจัดหรือหิมะ บันไดโล่ง บันไดลอยนอกอาคาร หรือบันไดที่มีการระบายอากาศตามธรรมชาติเป็นอย่างดีที่ทุกชั้น เป็นบันไดที่เหมาะสมและไว้ใจได้มากที่สุด การเปิดช่องระบายอากาศให้กับบันได จะต้องเป็นช่องระบายอากาศที่เปิดอย่างถาวร เช่น ช่องเกล็ดระบายอากาศ หรือช่องเปิดโล่ง และไม่ควรใช้กระจกบานกระทุ้ง หรือบานผลัก ซึ่งมักจะถูกปิดไว้เนื่องจากกลัวฝนเข้าอาคาร การพิจารณาตำแหน่งของช่องเปิด จะต้องให้ช่องเปิดอยู่ห่างจากช่องเปิดของอาคารที่เมื่อเกิดไฟไหม้จะนำควันไฟเข้าสู่บันไดได้ หากมีโอกาสให้บันไดได้แสงธรรมชาติจากภายนอกด้วยก็จะเป็นการดี แต่ไม่ควรใช้วิธีใส่กระจกที่ประตู เพราะช่องกระจกเป็นจุดอ่อนของประตูหนีไฟ และถึงแม้กระจกจะทนไฟได้ ไม่แตก แต่ก็มักจะป้องกันการแผ่รังสีความร้อนไม่ได้ นอกจากนี้กระจกทนไฟก็มีราคาแพงมาก

รูปที่ 3 ประตูเข้าสู่บันไดหลักเป็นประตูกระจกและเปิดออกจากบันได

บทความนี้ จะให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ การปรับปรุงและแก้ไขปัญหา สำหรับบันไดหนีไฟในลักษณะต่างๆกัน

บันไดที่ไม่มีชานพัก

สถาปนิกมักจะลดพื้นที่บันไดโดยตัดชานพักบันไดออก และใช้โถงหรือทางเดินเป็นชานพักแทน ดังนั้นจึงไม่สามารถติดตั้งประตูที่บันไดได้ เนื่องจากเมื่อเปิดประตูก็จะเจอขั้นบันไดเลย

รูปที่ 4 บันไดภายในอาคารที่ไม่มีประตูปิด

ในเมื่อการปิดล้อมบันไดเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อไม่ให้บันไดมีสภาพเป็นปล่องไฟ และก็ไม่สามารถติดตั้งประตูที่หน้าบันไดได้ดังที่ได้กล่าวแล้ว การแก้ปัญหาจึงต้องใช้วิธีติดตั้งประตูทนไฟที่ทางเดินเข้าสู่บันไดทั้งสองด้าน และจัดให้พื้นที่บันไดและทางเดินหน้าบันไดนี้ เป็นพื้นที่ป้องกันไฟหรือพื้นที่ปลอดภัย

รูปที่ 5

โดยทั่วไปประตูทนไฟจะเป็นประตูบานเดี่ยว ซึ่งมีความกว้าง 0.90 ม.-1.20 ม. ดังนั้นหากทางเดินกว้างกว่าบานประตูไม่มาก ก็อาจจะใช้วิธีเสริมผนังด้านข้างของประตู แต่ถ้าทางเดินกว้างมาก ก็อาจจะทำประตูเป็นสองบาน โดยมีเสารับบานประตูตรงกลาง หากไม่ต้องการให้ประตูปิดทางเดินในการใช้งานตามปกติ ก็สามารถเปิดประตูค้างไว้ได้ โดยใช้ Magnetic Door Holder จับบานประตูไว้ ซึ่งจะปลดประตูและปล่อยให้ปิดโดยอัตโนมัติด้วย Door Closer เมื่อได้รับสัญญาณแจ้งเหตุอัคคีภัย

รูปที่ 6

รูปที่ 7

รูปที่ 8

รูปที่ 9 ประตูบานเลื่อน และมี personnel door อยู่ข้าง

บันไดที่ต้องวนออกนอกบันได

เป็นบันไดที่ต้องเข้า-ออกจากบันไดทุกชั้น จึงไม่สามารถใช้เป็นบันไดหนีไฟได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดไฟไหม้ในชั้นล่างลงไป และการเข้า-ออกบันไดจะนำไปสู่พื้นที่ไฟไหม้นั้น

รูปที่ 10 บันไดหนีไฟที่ต้องวิ่งวนออกมานอกบันไดทุกชั้น

รูปที่ 11

บันไดเวียน

บันไดเวียนจัดอยู่ในบันไดประเภทสวยงาม และไม่นับว่าเป็นบันไดฉุกเฉิน เนื่องจากการที่ความกว้างของขั้นบันไดที่ส่วนตรงกลางบันไดที่แคบกว่าส่วนนอก ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายเมื่อต้องใช้ในระหว่างที่เกิดเหตุฉุกเฉิน(อย่างไรก็ตาม ในมาตรฐานวสท.ยังคงอนุโลมให้ใช้ได้เฉพาะบ้านอยู่อาศัย หากความกว้างของลูกนอนส่วนที่แคบที่สุดไม่น้อยกว่า 15 ซม. โดยที่ความกว้างของลูกนอนที่ขอบนอกไม่น้อยกว่า 30 ซม.)

รูปที่ 12 ความเสียหายจากการใช้บันไดเวียนเป็นบันไดหนีไฟ

เหตุผลที่สถาปนิกเลือกใช้บันไดลักษณะนี้ ก็เพื่อการลดการใช้พื้นที่บันไดอีกเช่นกัน ดังนั้น หากพบว่าบันไดหนีไฟ จัดไว้เป็นบันไดเวียน ก็ควรจะรื้อและทำบันไดหนีไฟแบบที่มีขั้นบันไดและชานพักตามมาตรฐานปกติ น่าดีใจที่เจ้าของโรงแรมรอยัลจอมเทียนเข้าใจปัญหานี้ จึงได้แจ้งว่าได้รื้อบันไดหนีไฟที่เป็นบันไดเวียนออกไปแล้ว เพื่อจัดทำบันไดหนีไฟใหม่ให้ถูกต้อง

บันไดที่อยู่ห่างกันมาก

ตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงระบุว่า บันไดหนีไฟจะต้องอยู่ห่างกันไม่เกิน 60 เมตร โดยนับจากกึ่งกลางประตูหนีไฟทั้งสองบาน และหากมีห้องที่อยู่ปลายทางตัน ประตูห้องนี้จะต้องอยู่ห่างจากประตูบันไดไม่เกิน 10 เมตร

รูปที่ 13

อาคารคอนโดมิเนียมชายทะเลหลายแห่งจะพบปัญหาว่า ห้องริมสุดที่หันรับวิวทะเล เป็นห้องที่อยู่ห่างจากบันไดหนีไฟมากในกรณีที่พบว่า ระยะห่างมากกว่าที่กำหนดนี้ วิธีการแก้ปัญหามีสองวิธีคือ 1. เพิ่มบันไดหนีไฟ 2. จัดพื้นที่ป้องกัน

สำหรับอาคารสาธารณะที่มีผู้ใช้สถานที่มาก หรือเมื่อระยะห่างจากปลายทางตันจนถึงบันไดมาก ควรจะหาทางเพิ่มบันไดหนีไฟ เพื่อไม่ให้เกิดปลายทางตัน แต่ถ้าทำไม่ได้จริงๆ ก็อาจจะแก้ปัญหาโดยการขยายพื้นที่ป้องกันบริเวณปลายที่เป็นทางตันเข้าหาบันได และติดตั้งผนังและประตูทนไฟ โดยให้ประตูทนไฟห่างจากประตูหนีไฟไม่เกิน 10 เมตร

ข้อกำหนดเกี่ยวกับจำนวนและตำแหน่งของบันไดหนีไฟ สามารถดูได้ในมาตรฐานของว.ส.ท. โดยมีหลักการว่าระยะห่างระหว่างประตูถึงประตูของบันไดหนีไฟ จะต้องไม่เกิน 60 เมตร และต้องให้ทางเลือกที่จะหนีไฟได้อีกทาง หากมีบันไดหนึ่งมีปัญหา หรือมีอุปสรรค หรือมีเพลิงขวางอยู่ หลักการนี้เป็นหลักสากลที่เรียกว่า 2-WAYS MEANS OF ESCAPE ซึ่งแม้แต่ห้องประชุมหรือห้องโถงขนาดใหญ่ ก็ต้องใช้หลักการเดียวกันนี้ คือจะต้องมีประตูทางออกที่อยู่คนละด้านของห้อง ในอดีต สถาปนิกเข้าใจว่า การกำหนดให้มีบันไดหนีไฟอย่างน้อย 2 ชุดนั้น จะวางบันไดอย่างไรก็ได้ จึงมีอาคารจำนวนมากที่วางบันได 2 ชุดไว้ในบริเวณเดียวกัน ในกรณีเช่นนี้ หากเกิดเพลิงไหม้ในบริเวณนั้น ก็จะไม่สามารถใช้บันไดตัวใดได้เลย

ขนาดและจำนวนของบันได ตามกฎหมายจะระบุไว้ว่าจะต้องสามารถลำเลียงคนออกจากอาคารได้ภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง โดยกำหนดจากความมั่นคงของอาคาร แต่อาคารที่เป็นอาคารสาธารณะ ซึ่งหมายถึงอาคารที่มีผู้ที่มาใช้อาคารจำนวนมากและอาจจะไม่คุ้นเคยกับอาคาร ควรจะต้องมีแผนในการอพยพ เนื่องจากการอพยพหนีไฟในคราวเดียว บันไดหนีไฟอาจจะรองรับไม่ได้ และอาจจะเกิดการชุลมุนวุ่นวายขึ้นได้ อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่อาจจะต้องจัดให้มีพื้นที่สำหรับเป็นที่พักเพื่อรอ งรับคนในกรณีฉุกเฉินได้ที่เรียกว่าพื้นที่หลบภัย ซึ่งจะช่วยให้การบริหารการอพยพหนีไฟทำได้ง่ายขึ้น

การลำเลียงคนออกจากอาคาร ถือว่าคนส่วนใหญ่จะต้องออกพ้นอาคารได้ก่อน 1 ชั่วโมง และคนสุดท้ายออกพ้นอาคารในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง การออกพ้นอาคารคือ ออกจากตัวอาคารที่ชั้นล่าง ในกรณีที่มีโรงภาพยนต์อยู่ในศูนย์การค้า ต้องคิดว่าคนออกจากโรงภาพยนต์จนหนีออกจากศูนย์การค้าที่ชั้นล่าง อย่างช้าที่สุดจะต้องน้อยกว่า 1 ชั่วโมง และภายในเวลา 1 ชั่วโมงนี้ ใช้สมมติฐานว่าคนที่ยังคงค้างอยู่จะต้องอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย เช่น บันไดหนีไฟ หรือพื้นที่หลบภัยเท่านั้น ดังนั้นการพิจารณาจะต้องพิจารณาทางหนีไฟตลอดทั้งเส้นทาง อาคารประเภทอินดอร์สเตเดี้ยมมักจะใช้เวลาในการอพยพไม่เกิน 30 นาที หรือสถานีรถไฟฟ้ามักจะให้เวลาในการอพยพไม่เกิน 10 นาที

รูปที่ 14ลักษณะที่ถูกต้องของบันได มีรายละเอียดในมาตรฐานของว.ส.ท.

ระยะสัญจรและระยะทางตันตามมาตรฐาน วสท.

(ระยะทางตันตามกฎกระทรวงจะต้องไม่เกิน 10 ม.)

ในกรณีที่บันไดหนีไฟสองชุดอยู่ห่างกันมากกว่า 60 เมตรไม่มาก ก็สามารถใช้วิธีขยายพื้นที่ป้องกัน เพื่อให้ประตูหนีไฟทั้งสองบานห่างกันไม่เกิน 60 เมตรได้เช่นกัน

บันไดที่มีประตูล้ำเข้าไปในชานพัก

รูปที่ 15

การที่ประตูเปิดล้ำเข้าไปในชานพักบันได ทำให้กีดขวางในขณะหนีไฟ ดังนั้นในมาตรฐานวสท.จึงกำหนดให้ประตูไม่ล้ำเข้าไปในทางสัญจรของบันได หรือการล้ำของประตูเข้าไปในชานพักได้ไม่เกิน 10 ซม. ส่วนในประกาศของกรุงเทพมหานครจะกำหนดให้ชานพักต้องมีความกว้างอย่างน้อย 1.20 เท่าของความกว้างของบันได และใน NFPA 101 จะระบุให้เมื่อเปิดประตูแล้ว จะต้องคงเหลือทางหนีไฟที่ชานพักสุทธิไม่น้อยกว่า 84 ซม. สำหรับอาคารใหม่ และ 55.9 ซม. สำหรับอาคารเก่า การแก้ปัญหาเนื่องจากการเปิดประตูล้ำเข้าไปในชานพักบันได ใช้วิธีขยายชานพักบันได หรือต่อทางเดินเข้าสู่บันไดออกมา

รูปที่ 16-1 สภาพก่อนการปรับปรุง

รูปที่ 16-2 สภาพภายหลังการปรับปรุง

บันไดลอย

บันไดลอยภายนอกอาคารที่มีโครงสร้างที่แข็งแรงและทนไฟ เป็นบันไดที่ปลอดภัย เนื่องจากไม่ได้มีลักษณะเป็นปล่องไฟและมีการระบายอากาศที่ดี โดยมีเงื่อนไขดังนี้คือ 1. ผนังอาคารด้านที่ติดกับบันได จะต้องเป็นผนังทนไฟ 2. ผนังทนไฟด้านที่ติดกับบันไดนี้ จะต้องมีความกว้างกว่าความกว้างของบันไดที่หันเข้าหาอาคารไม่น้อยกว่าข้างละ 3 เมตร 3. ในกรณีที่ไม่สามารถทำผนังทนไฟออกไปด้านละ 3 เมตร และหากด้านข้างของบันไดทำมุมกับผนังอาคารน้อยกว่า 180 องศา ด้านข้างของบันไดนั้นจะต้องเป็นผนังทนไฟ 4. หากผนังทนไฟนี้มีช่องเปิด จะต้องปิดเองได้โดยอัตโนมัติ และสามารถทนไฟได้ไม่น้อยกว่า 45 นาที

รูปที่ 17

รูปที่ 18 บันไดโล่งนอกอาคาร แต่ผนังอาคารด้านที่ติด บันไดต้องเป็นผนังทนไฟด้วย

บันไดลอยที่ประกอบจากเหล็กโครงสร้าง(Structural Steel) และมีการป้องกันอันตรายจากอาคารดังกล่าวแล้ว ถือว่ามีอัตราการทนไฟที่ยอมรับได้ ไม่จำเป็นต้องหุ้มกันไฟอีก การสร้างบันไดลอยนอกอาคาร เป็นทางออกที่ดีทางหนึ่งในการเพิ่มบันไดหนีไฟ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาแบบตรงไปตรงมา และไม่ต้องพึ่งระบบอัดอากาศทางกล ที่มักจะมีปัญหาการควบคุมความดันอากาศ และความเสี่ยงจากการที่พัดลมอัดอากาศไม่ทำงาน อย่างไรก็ตาม การสร้างบันไดเพิ่มนี้ ตามกฎหมายในปัจจุบัน อาจจะถือว่าเข้าข่ายการดัดแปลงอาคารได้ จึงควรทำเรื่องเพื่อขออนุญาตในการขอสร้างบันไดหนีไฟ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเสริมความปลอดภัยของอาคาร ซึ่งกรมโยธาธิการและกรุงเทพมหานคร ก็จะอนุญาต เนื่องจากมีนโยบายส่งเสริมความปลอดภัยของอาคารอยู่แล้ว หากการสร้างบันไดหนีไฟนี้ ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมา

รูปที่ 19

การป้องกันควันไฟ

การป้องกันควันไฟเข้าสู่บันได เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยมีวิธีการอยู่ 3 วิธี คือ 1. การจัดให้บันไดหนีไฟมีการระบายอากาศที่ดี และไม่มีลักษณะเป็นปล่องไฟ 2. การจัดให้มีโถงกันควัน(Smoke Lobby) 3. การจัดให้มีระบบอัดอากาศในบันได

รูปที่ 20 ช่องเปิดระบายอากาศที่บันไดหนีไฟกำลังรอใส่เกล็ดอลูมิเนียมติดตาย

รูปที่ 21

วิธีการที่ 1 และ 3 เป็นวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงฉบับที่ 33(2535)และฉบับที่50(2540) ส่วนวิธีการที่ 2 ได้มีการกล่าวถึงในมาตรฐานของวสท. นอกจากจะต้องดำเนินการตามวิธีการที่ 1 และ 3 แล้ว ยังแนะนำว่าอาคารที่สูงเกินกว่า 5 ชั้น ควรจะมีบันไดหนีไฟอย่างน้อย 1 ตัวที่มีโถงกันควันไฟนี้ เนื่องจากเห็นว่า การที่บันไดมีโถงปลอดควัน เป็นการลดความเสี่ยงจากอันตรายจากควันไฟ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของอันตราย และเป็นความจำเป็น นอกจากนี้ ยังช่วยลดอันตรายกับเจ้าพนักงานดับเพลิงในขณะเข้าผจญเพลิงอีกด้วย ดังนั้น จึงควรพิจารณาจัดให้มีการป้องกันควันไฟ ด้วยวิธีการดังกล่าวข้างต้นนี้ด้วย

ประตูหนีไฟ

ประตูหนีไฟหมายถึงประตูสำหรับปิดบันไดหนีไฟและทางหนีไฟ ซึ่งจะต้องได้รับการทดสอบอัตราการทนไฟตามมาตรฐานสากล เช่น ASTM E-119 ประตูเหล็กธรรมดาไม่ใช่ประตูหนีไฟ เนื่องจากไม่สามารถกันความร้อน กันควันไฟ และยังเกิดการบิดงอได้เมื่ออุณหภูมิสูง

รูปที่ 22 ประตูของห้องจัดงานตามมาตรฐานสากลทุกห้องจะใช้ Push Bar

รูปที่ 23 ประตูกันไฟที่ปิดระหว่างทางเชื่อมระหว่างปีกของอาคาร

องค์ประกอบประตูทนไฟในการทดสอบ รวมถึงกรอบประตูและบานพับ

นอกจากนี้ อุปกรณ์ผลักประตูจะต้องใช้Panic Bar หรือPush Barซึ่งถือว่าเป็นกุญแจหรือกลอนที่สามารถเปิดออกได้จากภายใน โดยไม่ต้องใช้ลูกกุญแจ หรือใช้วิธีการพิเศษ และมี Door Closerเพื่อทำหน้าที่ปิดประตูได้โดยอัตโนมัติ กุญแจลูกบิดธรรมดา ใช้กับประตูหนีไฟไม่ได้ เนื่องจากอาจจะปิดล็อกและเปิดไม่ได้ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ในมาตรฐานวสท.ยังกำหนดว่า อาคารเสี่ยงอันตรายสูง หรือห้องที่มีความจุคนเกินกว่า 50 คน บานประตูจะต้องเปิดออกไปตามทิศทางของการหนีออกจากอาคาร

รูปที่ 24 ปัญหาของการใช้ลูกบิดที่ประตูหนีไฟ และการใส่กุญแจล็อค

ทางหนีไฟ 2 ทาง

หลักการจัดวางทางหนีไฟที่ถูกต้อง จะต้องจัดทางที่นำไปสู่ทางหนีไฟอย่างน้อย 2 ทาง โดยที่หลักการนี้ ถือว่าเป็นหลักการพื้นฐาน และใช้ในทุกกรณี รวมทั้งห้องที่มีการชุมนุมมากกว่า 50 คน ทั้งนี้ ประตูหรือทางหนีไฟทั้ง 2 ทางนี้ จะต้องอยู่คนละด้านของห้อง หรืออยู่ห่างกันไม่น้อยกว่า 1/2 ของระยะทะแยงที่มากที่สุดของห้อง อาคารที่ใช้บันไดหนีไฟ 2 ชุด ร่วมในพื้นที่เดียวกัน (Scissor Stair) จะต้องตรวจสอบว่า หลักการ หนีไฟ 2 ทางนี้ เป็นปัญหาหรือไม่ เนื่องจาก บันไดในลักษณะนี้ จะมีประตูหนีไฟที่อยู่ใกล้กัน หากพบว่า มีปัญหา จะต้องจัดทำทางหนีไฟให้สามารถ วนรอบ ถึงกัน

รูปที่ 25

ผนังทนไฟ

ผนังทนไฟจะใช้ในการปิดล้อมบันได และกั้นพื้นที่ป้องกัน โดยผนังทนไฟจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้คือ 1. มีอัตราการทนไฟตามที่กำหนด ซึ่งส่วนมากจะเป็น 1 ชั่วโมงหรือ 2 ชั่วโมง 2. จะต้องแข็งแรง ไม่ล้มเมื่อถูกไฟเผา 3. จะต้องกั้นชนพื้นถึงพื้น 4. หากมีช่องเปิด ก็จะต้องอุดปิดด้วยวัสดุกันไฟ 5. ควรจะมีป้ายแสดงว่าเป็นผนังทนไฟ

อาคาร จำนวนมากใช้ผนังกระจกปิดล้อมบันได ซึ่งกระจกเหล่านี้จะแตกเมื่อรับความร้อน จึงควรเปลี่ยนเป็นผนังและใช้ประตูทนไฟ โดย หากใน เวลาปกติ ต้องการเปิดประตูไว้เพื่อใช้เป็นทางสัญจร ก็สามารถใช้Magnetic Door Holderจับประตูให้เปิดไว้ได้ ตาม ตัวอย่าง ที่ได้กล่าวแล้ว

รูปที่ 26 ผนังแยก Back of House เป็น Fire Wall มีป้ายแสดงไว้ชัดเจน

ท่อที่อยู่ในบันได

อาคารหลายแห่งพบว่าวิศวกรจำเป็นที่จะต้องติดตั้งระบบท่อต่างๆในพื้นที่บันได เนื่องจากสถาปนิกไม่จัดที่เดินท่อไว้ให้ ซึ่งเป็น ความผิดพลาด ในการออกแบบในอดีต

รูปที่ 27 ช่องท่อและประตูหนีไฟที่จัดสร้างไม่ถูกต้อง

การเดินท่อในพื้นที่บันได สร้างปัญหาการกีดขวางในบันได ทำให้มีวัสดุติดไฟในบันได และเป็นช่องทางให้ไฟ ทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ เนื่องจากการที่ท่อต้องเดินผ่านพื้นและผนัง ดังนั้น ท่อที่อยู่ในบันได จึงควรจะมีเฉพาะท่อส่งน้ำดับเพลิง หรือหากจะต้องมีท่อน้ำฝน ก็ต้องใช้ท่อเหล็ก ไม่ใช้ท่อพีวีซี หากอาคารใด มีท่อส่งผ้า ปล่องขยะ ปล่องลิฟต์ส่งเอกสารในพื้นที่บันได ก็ควรยกเลิกเสีย

ขั้นบันได

โดยทั่วไปควรจะมีความกว้างของลูกนอนไม่น้อยกว่า 22 ซม.และความสูงของลูกตั้งไม่เกิน 20 ซม. และมีพื้นที่เรียบแต่ไม่ลื่น(พื้นปูนขัดมัน โดยที่บริเวณจมูกของขั้นบันไดทำลายหยาบเพื่อกันลื่น ก็ใช้ได้แล้ว) ไม่ควรปูกระเบื้องยางในบันได หรือปูพรม เนื่องจากเป็นวัสดุติดไฟ และก่อให้เกิดก๊าซพิษเมื่อได้รับความร้อน แม้แต่การปูกระเบื้อง ก็ต้องระวังการลื่นและกระเบื้องที่แตกในภายหลัง รวมทั้งขนาดของขั้นบันไดที่เปลี่ยนไป อาคารจำนวนมากที่ไม่ถูกต้อง และต้องแก้ไขในเรื่องนี้

รูปที่ 28 บันไดหนีไฟที่ถูกต้องและมีระบบการอัดอากาศ

ราวกันตก

ราวกันตกจะต้องมีขนาดที่พอเหมาะกับการจับ และหากบันไดมีความกว้างมากกว่า 1.20 ม.จะต้องมีราวจับทั้ง 2 ด้าน และถ้ากว้างกว่า 2.20 ม. จะต้องมีราวกลาง ขนาดความกว้างของบันไดที่กำหนดจะกำหนดว่าเป็นขนาดที่หักระยะส่วนยื่นของราวจับแล้ว

วัสดุที่ใช้ทำราวจับจะต้องแข็งแรง และวัสดุที่เหมาะสมได้แก่เหล็ก ส่วนตัวราวจับจะเป็นเหล็กหรือไม้ก็ได้ ห้ามใช้ราวจับพีวีซี มีอาคารจำนวนมาก ที่มีราวจับไม่ถูกต้อง และไม่ต่อเนื่อง ที่ควรแก้ไข

ข้อกำหนดเกี่ยวกับจำนวนและตำแหน่งของบันไดหนีไฟ สามารถดูได้ในมาตรฐานของว.ส.ท. โดย มีหลักการว่า ระยะห่าง ระหว่างประตู ถึงประตู ของบันไดหนีไฟ จะต้องไม่เกิน 60 เมตร และต้องให้ทางเลือกที่จะหนีไฟได้อีกทาง หากมีบันไดหนึ่งมีปัญหา หรือมีอุปสรรค หรือ มีเพลิงขวางอยู่ หลักการนี้เป็นหลักสากลที่เรียกว่า 2-WAYS MEANS OF ESCAPE ซึ่งแม้แต่ห้องประชุมหรือห้องโถงขนาดใหญ่ ก็ต้องใช้ หลักการ เดียวกันนี้ คือจะต้องมีประตูทางออกที่อยู่คนละด้านของห้อง

ในอดีต สถาปนิกเข้าใจว่า การกำหนดให้มีบันไดหนีไฟอย่างน้อย 2 ชุดนั้น จะวางบันไดอย่างไรก็ได้ จึงมีอาคารจำนวนมากที่วางบันได 2 ชุดไว้ในบริเวณเดียวกัน ในกรณีเช่นนี้ หากเกิดเพลิงไหม้ในบริเวณนั้น ก็จะไม่สามารถใช้บันไดตัวใดได้เลย

ขนาดและจำนวนของบันได ตามกฎหมายจะระบุไว้ว่าจะต้องสามารถลำเลียงคนออกจากอาคารได้ภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง โดยกำหนด จากความมั่นคง ของอาคาร แต่อาคารที่เป็นอาคารสาธารณะ ซึ่ง หมายถึง อาคาร ที่มีผู้ที่มาใช้ อาคาร จำนวนมาก และ อาจจะไม่คุ้นเคย กับ อาคาร ควรจะต้องมีแผนในการอพยพ เนื่องจากการอพยพหนีไฟในคราวเดียว บันไดหนีไฟอาจจะรองรับไม่ได้ และ อาจจะ เกิดการ ชุลมุนวุ่นวายขึ้นได้ อาคารสูง หรืออาคาร ขนาดใหญ่ อาจจะต้อง จัดให้มี พื้นที่ สำหรับ เป็นที่พัก เพื่อรองรับคน ในกรณีฉุกเฉินได้ ที่เรียกว่า พื้นที่หลบภัย ซึ่งจะช่วยให้การบริหารการอพยพหนีไฟทำได้ง่ายขึ้น

การ ลำเลียงคน ออกจากอาคาร ถือว่าคนส่วนใหญ่จะต้องออกพ้นอาคารได้ก่อน 1 ชั่วโมง และคนสุดท้ายออกพ้นอาคารในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง การออกพ้นอาคารคือ ออกจากตัวอาคารที่ชั้นล่าง ในกรณีที่มีโรงภาพยนต์อยู่ในศูนย์การค้า ต้องคิดว่า คนออกจาก โรงภาพยนต์ จนหนี ออกจาก ศูนย์การค้าที่ชั้นล่าง อย่างช้าที่สุดจะต้องน้อยกว่า 1 ชั่วโมง และภายในเวลา 1 ชั่วโมงนี้ ใช้ สมมติฐาน ว่าคนที่ยังคงค้างอยู่ จะต้องอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย เช่น บันไดหนีไฟ หรือพื้นที่หลบภัยเท่านั้น ดังนั้น การ พิจารณา จะต้อง พิจารณา ทาง หนีไฟ ตลอดทั้งเส้นทาง

อาคาร ประเภท อินดอร์สเตเดี้ยม มักจะใช้เวลาในการอพยพไม่เกิน 30 นาที หรือสถานีรถไฟฟ้ามักจะให้เวลาในการอพยพไม่เกิน 10 นาที

สิ่งกีดขวาง

เรื่องนี้อยู่ที่ความเข้มงวดในการดูแล รักษาอาคาร และต้องไม่ให้มีสิ่งกีดขวางหน้าบันไดหนีไฟ ปัญหา ที่มักจะพบ ก็คือการที่ มัณฑนากร ไม่รู้เรื่อง และ กั้นห้องผู้บริหาร ห้องประชุม หรือ แม้แต่ห้องครัวหน้าบันไดหนีไฟ ซึ่งการแก้ปัญหา จะต้อง หาทางเข้า บันไดหนีไฟใหม่ โดย ไม่ต้อง ผ่านห้องเหล่านี้

รูปที่ 29

2. ระบบสัญญาณแจ้งเหตุ

เนื่องจากระบบนี้ เป็นระบบที่มีความซับซ้อนอยู่บ้าง และระบบเก่าๆมักจะมีปัญหา ใช้งานไม่ได้ ดังนั้น ส่วนใหญ่ จึงต้อง ติดตั้ง ระบบใหม่ ซึ่งมีการพัฒนา ไปจากเดิมมาก และมีราคาที่ถูกลง อุปกรณ์หลัก ในระบบนี้ ที่ควรจะมีคือ อุปกรณ์ตรวจจับควัน อุปกรณ์แจ้งเหตุด้วยมือ กระดิ่งแจ้งเหตุ และ แผงควบคุมจากส่วนกลาง

รูปที่ 30

3. ระบบไฟส่องสว่างฉุกเฉิน

เป็นเครื่องส่องสว่างฉุกเฉินพร้อมแบตเตอรี่ สำหรับบริเวณบันได ทางหนีไฟ ทางเดิน โถง และห้องเครื่อง ควร เลือกใช้ เครื่อง ที่ใช้แบตเตอรี่ ที่มีคุณภาพ เช่น แบตเตอรี่ที่ไม่ต้องเติมน้ำกลั่น เพราะมักจะพบว่าติดตั้งไปแล้วแต่ใช้การไม่ได้ อุปกรณ์นี้ มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง ในขณะฉุกเฉินและเกิดไฟฟ้าดับ ซึ่งสามารถติดตั้งได้ไม่ยาก แต่ควรเลือกใช้แบตเตอรี่ที่มีคุณภาพ และใช้ชนิดที่ไม่ต้องเติมน้ำกลั่น ไม่เช่นนั้น สักพักเดียวก็จะใช้ไม่ได้ ตำแหน่งที่ติดตั้ง จะต้องให้แสงส่องไปที่ทางเดิน และติดตั้งในระดับที่สามารถดูแลได้จากชานพัก ไม่ต้องตั้งบันไดตรงที่เป็นขั้นบันได

4. เครื่องดับเพลิงมือถือ

ตามมาตรฐานว.ส.ท.ระบุให้ติดตั้งทุก 1000 ตร.เมตรและห่างกันไม่เกิน 45 เมตร และติดตั้งในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน สำหรับห้องเก็บของ ห้องไฟฟ้า ห้องเครื่อง จะต้องมีเครื่องดับเพลิงอยู่นอกห้องด้วย เนื่องจากห้องเหล่านี้มักจะไม่มีคนอยู่ และการดับเพลิงต้องเข้าจากภายนอกห้อง โดยทั่วไป ควรเลือกใช้เครื่องดับเพลิงแบบผงเคมี เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูง ส่วนเครื่องดับเพลิงแบบก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ใช้เฉพาะกับห้องไฟฟ้า การติดตั้งต้องเห็นได้ชัดเจนและไม่สูงเกินกว่า 1.50 เมตร

รูปที่ 31

5. แบบแปลนแผนผังอาคารที่โถงลิฟต์ทุกชั้น

เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยได้ทราบข้อมูลผังอาคาร ตำแหน่งของตนเอง บันไดและทางหนีไฟ รวมทั้งเป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับเจ้าหน้าที่ดับเพลิง

6. ระบบป้องกันฟ้าผ่า

ข้อกำหนดนี้เป็นข้อกำหนดดั้งเดิม เนื่องจากอาคารเก่าเคยมีปัญหานี้ จากการตรวจอาคารมักจะพบว่า อาคารหลายอาคารมีระบบหรืออุปกรณ์เหล่านี้อยู่แล้ว แต่บางส่วนหรือส่วนใหญ่จะใช้งานไม่ได้ ดังนั้น การดำเนินการจึงอยู่ที่การตรวจสภาพและปรับปรุงติดตั้งเสริมหรือติดตั้งใหม่ หลังจากนั้นก็ให้มีการทดสอบเป็นระยะพร้อมทั้งทำรายงานบันทึกไว้

มาตรการส่งเสริมให้เจ้าของอาคารให้ความร่วมมือในการปรับปรุงอาคาร

สาระสำคัญที่เป็นมาตรการส่งเสริมให้เจ้าของอาคารให้ความร่วมมือในการปรับปรุงอาคารมีดังนี้

1. ระบบท่อยืน ที่เก็บน้ำสำรองและหัวน้ำดับเพลิง

การดับเพลิงสำหรับอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่ที่ได้ผลจะต้องปฏิบัติจากภายในอาคาร เพราะ การฉีดน้ำดับเพลิงจากนอก อาคาร มักจะเป็น การฉีดน้ำ แบบเดาสุ่ม โดยที่ยังไม่สามารถ กำหนดตำแหน่ง ของเพลิงได้ แต่ที่ ตำรวจ ต้องใช้วิธีนี้ เพราะส่วนใหญ่ จะมี ปัญหาว่า อาคารไม่มีระบบท่อส่งน้ำภายในหรือมีแต่ใช้ไม่ได้ และ ทุกคนต้องการที่จะเห็นรถดับเพลิงฉีดน้ำ ถ้าไม่ฉีด ก็หาว่า สงสัย จะต้องซื้อหัวสูบ

การฉีดน้ำ ไม่ถูกตำแหน่ง ของเพลิงนั้น มักจะไม่เป็นผล ทำให้เกิด กลุ่มควัน ของไอน้ำซึ่งเป็นอุปสรรค กับ อุปกรณ์หน้ากากหายใจของเจ้าหน้าที่ และน้ำยังทำความเสียหายกับอาคารและของที่อยู่ภายในเป็นอย่างมากด้วย

นอกจากนี้ รถดับเพลิง หอน้ำยังมีข้อจำกัดที่ความสูงไม่เกิน 180-200 ฟุต และ ในบางกรณี ก็จอดใกล้อาคาร ไม่ได้ เพราะ สถานที่ ไม่เอื้ออำนวย เนื่องจากรถมีขนาดใหญ่ และจะต้องกางขาค้ำยันตัวรถ รวมทั้งอาคารปิด หรือ ใช้ผนัง เป็นระบบ ที่มีผลกับความมั่นคง ของอาคาร ซึ่งเจาะทะลวงเข้าไปได้ยาก

การ ดับเพลิงยังต้อง ดำเนินการโดยเร็ว เมื่อไฟยังเล็กนั้นไม่น่ากลัว แต่เมื่อมันโตขึ้นแล้ว ก็ยากที่จะสู้กับมันได้ การปฏิบัติงาน จึงต้อง แข่งกับเวลา ดังนั้น ระบบท่อส่งน้ำภายในอาคารจึงเป็นอีกระบบหนึ่งที่มีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างมาก

รูปที่ 32 – ท่อส่งน้ำดับเพลิงในบันไดหนีไฟ

ท่อส่งน้ำดับเพลิง

เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับพนักงานดับเพลิง และควรอยู่ในบันไดหนีไฟ เพื่อให้พนักงานดับเพลิงสามารถต่อท่อส่งน้ำดับเพลิงจากภายในบันได และ ฉีดน้ำนำเพื่อลดความร้อนและเข้าทำการดับเพลิงจากบันไดหนีไฟได้

รูปที่ 33 ตัวอย่างตู้เก็บสายฉีดน้ำดับเพลิง พร้อมอุปกรณ์ สำหรับติดตั้งภายในอาคาร

ปัญหาในอาคารเก่าที่พบ มีตั้งแต่ การเดินท่อหลอกไว้ ขนาดท่อเล็ก ใช้วัสดุไม่ได้มาตรฐาน ข้อต่อใช้ไม่ได้ หากจะต้องเดินท่อใหม่ และ เดินในอาคารไม่ได้ ก็สามารถ เดินเกาะ ภายนอกอาคารได้ โดยใช้ท่อเหล็กดำSchedule 40 เชื่อมรอยต่อเนื่อง จากรอยต่อ จะแข็งแรงกว่าการต่อแบบเกลียว ซึ่งมักจะมีปัญหา ในท่อขนาดตั้งแต่ 4 นิ้วขึ้นไป และใช้ข้อต่อสรวมเร็วขนาด 2 1/2 นิ้ว รายละเอียด สามารถศึกษา ได้จากมาตรฐานของว.ส.ท.

ในกรณีที่ จะจัดสร้างถังสำรองน้ำดับเพลิงและติดตั้งเครื่องสูบน้ำดับเพลิง ก็มักจะพบปัญหาทางด้านสถานที่ เพราะ ถังสำรอง น้ำดับเพลิง มีขนาดใหญ่ และ เครื่องสูบน้ำดับเพลิง ควรจะอยู่ ในระดับเดียวกับก้นของถังน้ำเพื่อให้น้ำท่วมตัวเรือนของเครื่องสูบน้ำ หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องใช้เครื่องสูบน้ำดับเพลิง แบบตั้ง(Vertical Turbine) แต่ก็มีราคาที่สูงกว่า

ในกรณีที่สุดวิสัยที่จะสร้างถังเก็บน้ำสำรอง ก็ อาจจะขอต่อจากท่อเมนประปา แต่ท่อเมนประปาควรจะมีขนาดไม่น้อยกว่า 6 นิ้ว และ มั่นใจว่า มีน้ำที่มีแรงดัน อยู่เสมอ เรื่องนี้ ยังจะต้องทำความเข้าใจกับการประปาฯอีกด้วย เพราะการประปาฯของเรา ยังไม่ให้ความสนใจเรื่อง ที่นอกเหนือจาก การขายน้ำ เท่าไรนัก

ในกรณีที่ มีอาคารหลายหลัง อยู่ในบริเวณเดียวกัน สามารถใช้ถังสำรองน้ำดับเพลิงและเครื่องสูบน้ำดับเพลิงร่วมกันได้ แต่จะต้อง พิจารณา เรื่อง วิธีการเดินท่อ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาท่อทรุดแตก หรือท่อผุกร่อนในกรณีฝังดิน

2. ระบบแจ้งเตือนภัยในอาคาร

ในที่นี้หมายถึงระบบประกาศฉุกเฉิน(Emergency Paging) เพื่อให้ข้อมูลกับผู้ที่อยู่ในอาคารเมื่อเกิดเหตุ ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น และจะต้องปฏิบัติอย่างไร จะได้ไม่เกิดการตื่นตกใจหรือเกิดโกลาหล ระบบนี้ จะต้องคำนึงถึงคุณภาพของเสียงที่ประกาศที่จะต้องได้ยินและจับใจความได้ชัดเจน โดยอาจจะมีการบันทึกข้อความที่ประกาศไว้ล่วงหน้าด้วย

3. การปิดล้อมเพื่อแบ่งพื้นที่ป้องกันและระหว่างชั้น

1. โถงลิฟต์และโถงบันได ตามหลักสากล บริเวณโถงลิฟต์และโถงบันไดถือว่าเป็นบริเวณสาธารณะส่วนกลางที่ผู้คนมักจะใช้ทั้งในยามปกติ และ เมื่อเกิดเหตุ ด้วยความเคยชิน ดังนั้นบริเวณเหล่านี้จึงควรปิดล้อมด้วยผนังกันไฟด้วย

2. โถงลิฟต์สำหรับพนักงานดับเพลิง โถงลิฟต์ดับเพลิงจะต้องปิดล้อมและกันไฟได้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อให้พนักงาน สามารถใช้ลิฟต์ ได้อย่างปลอดภัย และ ใช้โถงหน้าลิฟต์ซึ่งกำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 6 ตร.เมตรในการเตรียมเข้าปฏิบัติการดับเพลิง

3. ห้องอุปกรณ์ไฟฟ้า ห้องอุปกรณ์ไฟฟ้าจะมีอุปกรณ์แผงไฟฟ้า สายไฟฟ้าอยู่เป็นจำนวนมากและติดไฟได้ รวมทั้งจะมีสายไฟฟ้า เดินไปยังที่ต่างๆ จากห้องนี้ และ มีสายเมนเดินทะลุระหว่างชั้นด้วย จึงควรปิดล้อมกันไฟ เพื่อ เป็นการป้องกัน ในกรณีที่ระบบไฟฟ้า มีปัญหาหรือสายไฟร้อน อันอาจจะทำให้เกิดอัคคีภัยได้ จะได้ถูกควบคุมให้อยู่ในวงจำกัด ช่องว่างระหว่าง สายไฟฟ้า ที่เดินทะลุระหว่างชั้นจะต้องอุดปิดด้วยวัสดุอุดกันไฟ(Fire Seal)

4. ห้องเก็บสินค้า ห้องเก็บสินค้ามักจะมีวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงอยู่ จึงเป็นอีกห้องหนึ่งที่ควรที่จะปิดล้อมเพื่อป้องกันหากเกิดอัคคีภัย ในห้องนั้นเอง จะได้ถูกจำกัดไว้ หรือหากเกิดมาจากที่อื่นจะได้ช่วยรักษาสินค้าไว้ และไม่กลายเป็นเชื้อเพลิงได้โดยง่าย

5. ช่องท่อสุขาภิบาล ช่องท่อสุขาภิบาลระหว่างชั้นมักจะถูกเปิดทิ้งไว้ และเหตุการณ์อัคคีภัยในหลายครั้งที่ผ่านมา เพลิง และ ควันไฟ ได้อาศัย ช่องที่เปิดทิ้งไว้นี้ ขยายตัวไปยังชั้นต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงต้องปิดช่องท่อเหล่านี้ด้วยวัสดุอุดกันไฟ(Fire Seal) วัสดุชนิดนี้ เมื่อ ถูกไฟเผา จะขยายตัวออกและอุดช่องว่างทั้งหมด กันไม่ให้ไฟลุกลามระหว่างชั้นได้ ใน กรณีที่ เดิม มีการใช้ ช่องท่อสุขาภิบาล เป็นช่องท่อระบายอากาศด้วย ให้ยกเลิกการระบายอากาศด้วยวิธีนี้ ซึ่งก็มักจะระบายอากาศไม่ได้ผลอยู่แล้วเนื่องจากช่องท่อที่จำกัด โดย อาจจะ เดินท่อระบายอากาศ ออกในแนวราบแทน

6. ช่องอากาศบริสุทธิ์ของเครื่องปรับอากาศ โรงแรมหลายแห่งมีการนำอากาศบริสุทธิ์เข้าเครื่องปรับอากาศจากทางเดิน และ หาก เป็น ทางเดิน ภายใน และ มีห้องพักแขกอยู่ทั้ง 2 ข้างของทางเดิน หากเกิดอัคคีภัย ควันไฟจะตลบอยู่ในทางเดิน และ เครื่องปรับอากาศ จะดูดควันไฟ จากทางเดิน เข้าสู่ห้องพัก ดังนั้นจึงควรปิดช่องอากาศบริสุทธิ์ในลักษณะนี้และเปิดช่องอากาศบริสุทธิ์เข้าจากภายนอกอาคารแทน หรือ ใช้วิธีเดิน ท่อลม เพื่อทำหน้าที่ จ่าย อากาศบริสุทธิ์ โดยมีลิ้นกันไฟทุกครั้งที่เดินผ่านผนังกันไฟ

7. การป้องกันควันไฟ หากทำการปิดล้อมบันได ช่องท่อ โถงต่างๆเรียบแล้ว เท่ากับการแบ่งพื้นที่ป้องกันออกเป็นส่วนๆและแยกแต่ละชั้นออกจากกัน ซึ่งจะเป็นการป้องกันไฟลามและควันไฟไปในตัว อย่างไรก็ตาม ยังมีการดำเนินการในส่วนของการป้องกันควันไฟดังนี้

7.1 การอัดอากาศในบันไดหนีไฟและโถงลิฟต์สำหรับพนักงานดับเพลิง ในกรณีที่ บันไดเป็น บันไดภายใน อาคาร ที่ไม่สามารถเปิด ช่องระบายอากาศ ที่ทุกชั้นของ อาคาร ได้ จะต้องมีระบบอัดอากาศเพื่อป้องกันควันไฟเข้าสู่บันได เช่น เดียวกับ การที่ต้อง มีระบบการอัดอากาศ ที่โถงลิฟต์ สำหรับพนักงานดับเพลิง นอกจากนี้ ยังอาจจะพิจารณาจัดให้มีโถงกันควัน(Smoke Lobby) โดยการทำประตู 2 ชั้นด้วย

7.2 ในกรณีที่สามารถเปิดช่องระบายอากาศตามธรรมชาติ หากสามารถเปิดช่องระบายอากาศที่ทุกชั้นของอาคารได้ไม่น้อยกว่า 1.4 ตร.เมตรต่อชั้น ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีระบบอัดอากาศ ปัญหาที่มักจะพบคือ เดิมสถาปนิกมักจะกำหนดให้ใช้หน้าต่างที่ปิดได้ ซึ่ง มักจะถูก ปิดไว้ จึงใช้ไม่ได้ หากทำการปรับปรุง ควรจะเปลี่ยน เป็นบานเกล็ดอะลูมิเนียม และ ควรให้ช่องเปิดนี้ห่างจากหน้าต่างอาคารอย่างน้อย 3 เมตร เพื่อ ลดโอกาสที่ควันไฟจะย้อนเข้าสู่บันได

สาระสำคัญ ที่ทำให้การปรับปรุงอาคารได้ตามมาตรฐานสากล

ระบบสปริงเกลอร์

รูปที่ 34 ตัวอย่างหัวสปริงเกลอร์แบบต่างๆ

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า อาคารที่ติดตั้งระบบสปริงเกลอร์หรือระบบหัวฉีดกระจายน้ำอัตโนมัติที่ถูกต้อง เป็นอาคารที่ปลอดภัย เพราะ ได้มีกรณีศึกษา จำนวนมาก ที่พิสูจน์ว่า ระบบดังกล่าวนี้เป็นระบบที่ได้ผลเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ รายละเอียด การติดตั้ง ระบบ สปริงเกลอร์ ที่ถูกต้อง มีอยู่แล้วใน มาตรฐานของว.ส.ท.

ปัญหาที่พบก็คือ ในอดีต วิศวกรช่วยเจ้าของอาคารประหยัดผิดทางและติดตั้งระบบที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น ระยะระหว่างหัวไม่ได้ ปริมาณ การ ส่งน้ำ ดับเพลิงไม่พอ ระดับผิด ไม่มีแผ่นสะท้อนความร้อน เมื่อ ต้องติดลอยต่ำจากเพดาน ไม่ได้ พิจารณา อุปสรรคที่ ขวางทาง การฉีดน้ำ

ตามกฎหมายระบุให้การติดตั้งระบบสปริงเกลอร์จะต้องติดตั้งทุกบริเวณ จึงมักจะมีคำถามว่า ในกรณีห้องโถงที่สูงมาก ระบบนี้ จะดับไฟได้ หรือ ซึ่งตอบได้ว่า ระบบสปริงเกลอร์สามารถดับเพลิงจากที่สูงได้แต่จะต้องมีปริมาณหัวที่มากขึ้นแ ละต้องฉีดน้ำมากขึ้น โดยมี หลักเกณฑ์ ในกรณีที่เป็น โกดังเก็บสินค้า หรือ เป็นชั้นเก็บสินค้า ที่จะต้องเพิ่มสปริงเกลอร์ในชั้นสินค้า (Inrack Sprinkler)ด้วย สำหรับ พื้นที่ที่สูงเกินกว่า 10 เมตร หัวสปริงเกลอร์โดยทั่วไปมักจะไม่ได้ผล ดังนั้น พื้นที่เหล่านี้ จะต้องอาศัยสายฉีดน้ำดับเพลิง หรือถ้าพื้นที่กว้าง เช่น ที่แสดงสินค้า หรือ Indoor Stadium มักจะนิยมใช้ปืนฉีดน้ำ (Fire Monitor) อย่างที่ติดกับรถดับเพลิงเสริมด้วย

ข้อเสีย ของการที่ สปริงเกลอร์ สำหรับ พื้นที่สูงฉีดน้ำก็คือ จะทำให้ควันไฟที่อยู่ในระดับบนฟุ้งกระจายลงมาบริเวณต่ำ ซึ่งไม่เป็นที่ ปรารถนา เพราะ จะทำให้ทัศนวิสัยไม่ดี แต่ก็ถือว่าถึงขนาดหัวสปริงเกลอร์เหล่านี้ทำงานแสดงว่าไฟต้องไหม้มากแล้ว และ คนส่วนใหญ่ก็ควรจะหนี ออกไปหมดแล้ว ประกอบกับถ้ามีระบบระบายควันที่ดี ควันไฟก็คงไม่มากนัก นอกจากนี้ ยังมี การพัฒนาหัวสปริงเกลอร์ ให้สามารถฉีดน้ำได้ตรง และ แรง เพื่อให้สามารถทะลุหมอกควัน และ ความร้อนลงมาได้ หัวสปริงเกลอร์ ที่ติดตั้ง ในลักษณะนี้ จะทำงาน เมื่ออุณหภูมิสูงแล้วเท่านั้น และจะทำหน้าที่ช่วยลดความร้อน เป็นการ ชลอ การพังทลาย ของ โครงสร้างอาคาร และ ทำให้คนมีเวลาหนีออกจาก อาคาร ได้มากขึ้น รวมทั้ง เพิ่ม ความปลอดภัย ให้กับพนักงานดับเพลิง

การ ติดตั้ง ระบบสปริงเกลอร์สำหรับอาคารเก่า มีปัญหาในการติดตั้งค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเมื่อยังคงฝ้าเพดานเดิมไว้ ดังนั้นจังหวะที่ดีที่สุดคือการติดตั้งพร้อมกับการปรับปรุงอาคาร อีก ทางเลือกหนึ่งคือ การเดินท่อลอย ซึ่งหากท่านไปพักโรงแรมเก่าบางแห่งในต่างประเทศ ก็จะเห็นการติดตั้งในลักษณะนี้ โดย สามารถทาสีท่อให้เข้ากับตัว อาคารได้

การเดินท่อย่อย ควรหลีกเลี่ยงงานเชื่อม โดยการต่อท่อด้วยเกลียวแทน เชื่อมเฉพาะท่อเมนที่จำเป็นหรือต่อด้วยหน้าแปลน เนื่องจาก งานเชื่อม มีประกายไฟ ไม่เหมาะกับอาคารที่ยังใช้งานอยู่ ในกรณี ที่อาคารเดิม มีระบบสปริงเกลอร์อยู่แต่จำนวนหัวไม่พอและต้องเพิ่ม ก็ให้ต่อเพิ่มจากท่อเดิม แต่หากพบว่าท่อเดิมไม่พอ ก็ให้ เพิ่มความสามารถ ในการส่งน้ำ ของท่อเดิม เช่น การต่อท่อย่อยถึงกันเป็นรูปวงแหวน หรือการเพิ่มแรงดันน้ำ การต่อท่อกับท่อเดิมที่ปลอดภัย นิยมใช้ข้อต่อ ที่เรียกว่า Vitaulic Coupling เพราะไม่ต้องเชื่อมและสะดวกดี

ระบบ ฉีดน้ำดับเพลิง อัตโนมัติ นี้ ยังมีระบบที่เรียกว่า ระบบฝอยน้ำ (Water Mist System) ซึ่งในสมัยแรกๆใช้ในเรือและเรือดำน้ำ ในปัจจุบัน ได้พัฒนาประกอบกับส่วนผสมของน้ำยาดับเพลิง ทำให้สามารถใช้ในการดับเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก สามารถใช้ดับเพลิง ประเภท น้ำมัน และ ยาง ได้เป็นอย่างดีในขณะที่น้ำอาจจะดับไม่ได้ ระบบดังกล่าวนี้ใช้น้ำน้อยกว่า และ ระบบท่อก็มีขนาดเล็กกว่า จึงช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับการเดินท่อขนาดของเครื่องสูบน้ำดับเพลิงขนาดของถังน้ำดับเพลิง และ การต่อท่อต่อ ด้วยเกลียวได้ จึง เหมาะกับ งานปรับปรุง อาคารเก่า เป็นอย่างมาก

ระบบเครื่องสูบน้ำดับเพลิง

รูปที่ 35 ตัวอย่างเครื่องสูบน้ำดับเพลิง ชนิดขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์

การมีเครื่องสูบน้ำดับเพลิง เพื่อให้อาคารสามารถพึ่งตัวเองได้เป็นอันดับแรก และสามารถดับเพลิงได้ตั้งแต่ระยะเริ่มเกิดซึ่งง่ายต่อการดับ หากมัวแต่รอรถดับเพลิง ก็ไม่รู้ว่าจะมาได้เมื่อไร มีน้ำไหม และกำลังของรถเพียงพอไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอาคารสูง

ประการสำคัญคือ หากจะติดตั้งเครื่องสูบน้ำดับเพลิง ก็ต้องให้แน่ใจว่ามีน้ำสำรองสำหรับการดับเพลิงที่เพียงพอ และเครื่องสูบน้ำดับจะต้องมีกำลังที่เพียงพอ สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา การก่อสร้างถังสำรองน้ำดับเพลิงและติดตั้งเครื่องสูบน้ำดับเพลิงเป็นเรื่องใหญ่ และต้องมีการวางแผนการออกแบบที่ดี เพื่อป้องกันปัญหาการก่อสร้าง การทรุดตัวของถัง การที่ระดับน้ำควรจะสูงกว่าตัวเรือนของเครื่องสูบ การเติมน้ำเข้าถัง การระบายอากาศของเครื่อง เป็นต้น

เนื่องจากการดำเนินการยุ่งยากและต้องลงทุนสูง หากสามารถใช้ระบบเดียวกันได้กับหลายอาคารก็จะช่วยลดภาระลงไปได้มาก

สมรรถนะของเครื่องสูบน้ำดับเพลิงจะแตกต่างจากเครื่องสูบน้ำโดยปกติทั่วไป และไม่มีการที่ภาระจะเกินความสามารถของเครื่อง(Non overloading) เมื่อเครื่องเดินแล้วจะไม่มีทางหยุดเดินเองเดินจนกว่าจะมีคนไปปิดเครื่อง ถ้าไม่มีใครไปปิดเครื่อง เครื่องก็จะต้องเดินจนกว่าจะพังไปเลย รายละเอียดเพิ่มเติม มีอยู่ในมาตรฐานของว.ส.ท.

ระบบไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน

คือการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง และโดยทั่วไปใช้สำหรับจ่ายไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ดังต่อไปนี้คือ

1. ลิฟต์ โดยเฉพาะลิฟต์ดับเพลิง 2. เครื่องสูบน้ำดับเพลิง 3. ระบบควบคุมควันไฟ 4. ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ 5. ระบบประกาศฉุกเฉิน 6. ระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน

ทั้งนี้ ระบบที่นับว่ามีความสำคัญที่สุดคือข้อที่ 1-3 ส่วนที่เหลือ อาจจะใช้แบตเตอรี่สำรองได้

รูปที่ 36

โดยปกติ ก่อนที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงจะเข้าทำการดับเพลิง เจ้าหน้าที่จะทำการตัดไฟฟ้าทั้งหมดออกก่อนเพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากการดับเพลิงต้องใช้น้ำก็กลัวจะถูกไฟฟ้าดูด และด้วยความที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ในบางครั้งก็ตัดระบบไฟฟ้าฉุกเฉินออกด้วย แต่ปัจจุบัน ทราบว่าเจ้าหน้าที่จะไม่ตัดไฟฟ้าฉุกเฉิน

ระบบควบคุมควันไฟ

การระบายควันไฟ เป็นการลดปริมาณก๊าซพิษ ลดความร้อน ลดควันไฟ และทำให้หาต้นตอของเพลิงได้ อาคารที่ถูกเพลิงไหม้เป็นเวลานานและเป็นอาคารปิด เป็นอาคารที่อันตรายมาก เนื่องจากมีความร้อนสะสมอยู่มาก เมื่อได้รับอากาศในทันที อาจจะเกิดระเบิดได้ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในเพียงไม่กี่ประเทศที่อาคารที่อยู่ใจกลางเมืองเกิดเพลิงไหม้ได้เป็นเวลาต่อเนื่องหลายชั่วโมงหรือเป็นวัน แสดงถึงปัญหาและความผิดพลาดในระบบความปลอดภัยอย่างชัดเจน

หากระบบเป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น เจ้าหน้าที่ควรจะถึงที่เกิดเหตุภายใน 8 นาที และหากมีการระบายควันไฟ เจ้าหน้าที่จะเข้าทำการดับเพลิงที่ต้นตอได้ทันที ก่อนที่ไฟจะลุกลามไปได้ ทั้ง 2 ส่วนนี้ จะต้องประกอบกัน

เมื่อคราวที่โรงงานแทนทาลั่มที่ภูเก็ตถูกเผา เมื่อดูภาพจากข่าวจะเห็นควันไฟพวยพุ่งออกจากหลังคาโรงงานหนาทึบ แต่ท่านเชื่อหรือไม่ว่า ถึงแม้โครงหลังคาจะเป็นโครงเหล็ก หลังคาก็ยังไม่ถล่มลงมา และเครื่องจักรเสียหายไม่มาก ก็เนื่องจากหลังคาโรงงานมีระบบการระบายอากาศที่ดีเยี่ยม ซึ่งช่วยระบายควันไฟและความร้อนออกไป หาไม่แล้ว อาจจะเสียหายยับเยินมากกว่านี้ และอาจจะมีผู้เสียชีวิตด้วย

อาคารประเภท โรงภาพยนตร์ Indoor Stadium ศูนย์การค้าที่มีโถงต่อเนื่องหลายชั้น ศูนย์แสดงสินค้า เหล่านี้ คืออาคารที่ควรจะมีระบบระบายควันไฟ

ศูนย์การดับเพลิง

คือสถานที่ติดตั้งแผงควบคุมและแผงแสดงสัญญาณต่างๆ รวมทั้งเป็นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับตัวอาคาร แผนผัง แบบแปลนอาคาร คู่มือการปฏิบัติ คู่มือระบบและอุปกรณ์ ข้อมูลของผู้ที่อาศัยในอาคาร และเป็นศูนย์ประสานงาน ติดต่อ สั่งการเมื่อเกิดเหตุ โดยตำแหน่งที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ชั้นล่างของอาคารที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงสามารถเข้าถึงได้ทันทีตลอดเวลา เป็นสถานที่ที่ปลอดภัย หากจะอยู่ที่ชั้นอื่นของอาคาร หรืออยู่ในอาคารข้างเคียง ก็ต้องเป็นห้องที่มีคุณสมบัติดังกล่าวนี้

ทางเข้าอาคารฉุกเฉิน

สำหรับอาคารที่มีชั้นความสูงในระดับที่รถหอน้ำเข้าถึงได้ การที่มีทางเข้าฉุกเฉินจากนอกอาคารจะช่วยเสริมการเข้าดับเพลิงได้ ช่องดังกล่าวควรจะมีขนาดไม่น้อยกว่า กว้าง 900 มม.สูง 1200 มม. มีระยะห่าง 20 เมตรและไม่มีอุปสรรคกีดขวางช่องนี้จากด้านในของอาคาร และที่ด้านนอกของอาคารจะมีสัญลักษณ์สามเหลี่ยมหัวกลับแสดงไว้เพื่อให้ทราบว่าเป็นช่องดังกล่าวนี้

ป้ายทางออกฉุกเฉิน

เพื่อช่วยน ำทางในการหนีไฟ ป้ายหนีไฟนี้จะต้องเห็นได้ชัดเจนและประกอบกับเครื่องให้แสงสว่างฉุกเฉิน ในบางประเทศ จะจัดให้มีป้ายหรือเส้นแสง แสดงทางหนีไฟในระดับต่ำหรือในพื้นด้วย เพื่อให้สามารถมองเห็นและให้คลานในระดับต่ำในขณะที่มีกลุ่มควันหนาทึบ ในปัจจุบันตามมาตรฐานได้กำหนดในป้ายนี้เป็นสีเขียว

รูปที่ 37 ป้ายทางหนีไฟ

ตัวอย่างการแก้ปัญหาในอาคาร

อาคารตึกแถว

ลักษณะของปัญหา ม ีการเปลี่ยนแปลงการใช้เป็นโรงงาน ภัตตาคาร สถานกวดวิชา หอพัก โดยไม่มีทางหนีไฟที่ถูกต้อง เนื่องจาก รูปแบบของบันไดตึกแถวยากต่อการปิดล้อม และตึกแถวส่วนใหญ่มีการต่อเติมพื้นที่ด้านหลังอาคารทำให้ไม่สามารถใช้พื้นที ่ด้านหลังเป็นทางหนีไฟได้ มีการติดตั้งเหล็กดัดกันขโมยอันเป็นอุปสรรคกับการหนีไฟ

รูปที่ 38

แนวทางแก้ปัญหา นอกจากจะต้องกวดขันในการให้มีการแจ้งเปลี่ยนสภาพการใช้งานแล้ว การทำทางหนีไฟที่ถูกต้อง จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยได้เป็นอย่างมาก เกณฑ์ในการพิจารณามีดังนี้คือ

1. ระยะสัญจรสำหรับการหนีไฟรวมทั้งแนวราบและแนวตั้ง ต้องไม่มากกว่า 30 เมตร สำหรับสถานที่ใช้งานทั่วไปและไม่มากกว่า 15 เมตรสำหรับสถานที่เสี่ยงอันตราย ดังนั้น ตึกแถวสูงไม่เกิน 4 ชั้น อนุโลมได้ว่าระยะสัญจรทั่วไปไม่เกิน 30 เมตร จึงสามารถใช้บันไดที่มีอยู่เดิม โดยที่ต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง เป็นทางหนีไฟสู่ชั้นล่างและออกสู่ทางสาธารณะภายนอกได้ ยกเว้นว่าอาคารนั้นเป็นโรงงานที่เสี่ยงอันตราย

สำหรับตึกแถวที่สูงกว่า 4 ชั้น หรือมีการเปิดต่อกันหลายห้อง หากระยะสัญจรสำหรับการหนีไฟ ซึ่งนับจากจุดที่ไกลที่สุดจนถึงทางออกสู่นอกอาคารที่ปลอดภัยที่ชั้นล่างเกิน 30 เมตร ก็จะต้องจัดทำให้มีพื้นที่ป้องกัน เช่น การปิดล้อมบันได ซึ่งจะทำให้สามารถนับระยะสัญจรจากจุดทีไกลที่สุดจนถึงพื้นที่ป้องกันได้

2. ทางหนีไฟ จะต้องมี 2 ทางที่สามารถนำออกสู่ทางสาธารณะ สำหรับอาคารตึกแถวห้องริมสุด สามารถนับประตูหน้าได้เป็น 1 ทาง และเจาะช่องประตูด้านข้างอีก 1 ทาง รวมเป็น 2 ทาง ในกรณี ห้องกลาง และ ออกทางด้านหลังไม่ได้ จะต้องอาศัย ออกที่ห้องข้าง เป็นอีก 1 ทาง หรือจะต้องใช้ตึกแถว 2 ห้อง โดย ยังคง ผนังระหว่างห้อง ไว้ และ ติดตั้งประตูระหว่างกัน ในกรณีที่ สามารถ จัดทำ บันไดหนีไฟ เพิ่มด้านหลัง หรือด้านข้างได้ ให้นับเป็นทางหนีไฟทางที่ 2 ได้ โดยไม่ให้ใช้บันไดลิงเป็นบันไดหนีไฟ และ บันไดนี้ จะต้องทอด ลงมา อย่างน้อย ถึงกันสาดชั้นล่าง และ มีความกว้าง ของบันไดไม่น้อยกว่า 60 ซม. พร้อมราวจับกันตก ประตูเปิดออกสู่บันไดด้านนอกเป็นชนิดที่ผลักเปิดออกจากด้านในได้ด้านเดียว โดยดัดแปลง จาก ช่องหน้าต่างเดิม และเหล็กดัดได้

3. สัญญาณแจ้งเหตุ สำหรับอาคารที่เสี่ยงอันตราย รวมทั้ง หอพัก สถานกวดวิชา ควรติดตั้งระบบสัญญาณแจ้งเหตุ โดยใช้อุปกรณ์ตรวจจับควันไฟ(Smoke Detector) และจัดให้มีระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินด้วยแบตเตอรี่ตามแนวทางหนีไฟ

4. เครื่องดับเพลิง จัดให้มีเครื่องดับเพลิงเคมีประจำบันไดทุกชั้น

5. เชื้อเพลิง ไม่ใช้อาคารตึกแถวในการเก็บวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิง หรือวัสดุอันตราย

คอนโดมิเนียม

ลักษณะของปัญหา 1. บันไดหนีไฟมีสภาพเป็นปล่องทะลุถึงกันทุกชั้น ระยะทางตันจากประตูห้องสุดท้ายถึงบันไดหนีไฟเกิน 10 เมตร บันไดหนีไฟไม่ถูกต้อง 2. ใช้ช่องท่อเป็นช่องระบายอากาศ 3. ใช้ประตูไม้อัดเป็นประตูห้องชุด

แนวทางแก้ปัญหา 1. การแก้ไขปัญหาของบันได ขอให้ดูแนวทางในบทความเรื่อง”บันไดหนีไฟ” 2. ส่วนการใช้ช่องท่อเป็นช่องระบายอากาศ หากไม่สามารถระบายอากาศของห้องน้ำทางอื่นได้ ก็ต้องยอม ซื้อตะแกรง กันไฟ มาติดตรง ช่องระบายอากาศ ที่ติดกับ ช่องท่อ (ดูรูปประกอบ) ซึ่งมีทั้งชนิด ที่กันไฟ และชนิดที่กันควันไฟ และ อย่างน้อย จะต้องทำ การอุดปิด ที่ปลาย ด้านล่างสุด เพื่อ ลดโอกาส ของการที่มีสภาพเป็นปล่องไฟ ส่วนปลาย ด้านบนสุด ก็ติดตั้งตะแกรง กันไฟ เช่นเดียวกัน เมื่อปล่อง ถูกปิด ทั้งบน และล่าง ก็จะลดแรงดูดไฟ และควันไฟ เข้ามาในปล่อง ช่องท่ออื่นๆ รวมทั้ง ช่องเดินสายไฟฟ้า ให้อุดปิดด้วย Fire Seal ทั้งหมด (ดูรูปประกอบ)

รูปที่ 39

สำหรับ อาคารใหม่ ไม่ควรออกแบบโดยใช้ช่องท่อสุขาภิบาลเป็นปล่องระบายอากาศ โดยควรเดินท่อระบายอากาศ แยกต่างหาก และ ติดตั้ง ลิ้นกันไฟ ให้เรียบร้อย

3. เปลี่ยนประตูไม้อัดเป็นประตูเหล็กทนไฟ หรือประตูไม้สัก ซึ่งสามารถทนไฟได้ไม่น้อยกว่า 45 นาที

รูปที่ 40

ประตูหนีไฟ

ลักษณะของปัญหา อาคารจำนวนมากใช้ประตูไม้หรือประตูเหล็กธรรมดาเป็นประตูหนีไฟ ใช้กุญแจลูกบิดเป็นกลอนประตู และ บานประตู ยื่นเข้าไปใน ชานพัก บันไดมาก

รูปที่ 41

รูปที่ 42

รูปที่ 43

แนวทางแก้ปัญหา ประตูทนไฟแตกต่างจากประตูทั่วไป โดยนอกจากจะต้องสร้างจากวัสดุทนไฟแล้ว จะต้อง สามารถ กันความร้อนได้ และ ไม่บิดงอ จนทำให้เปลว หรือ ควันไฟ ผ่านไปได้ และจะต้องอุดกันไฟเมื่ออุณหภูมิสูงเกินที่กำหนด เช่น 150 ํซ ดังนั้น คำว่าประตูทนไฟจึงหมายรวมถึงกรอบประตู บานพับและอุปกรณ์ประกอบประตูด้วย ดังนั้น หาก พบว่า ประตู ไม่ได้มาตรฐาน ก็ควรเปลี่ยนใหม่ ในกรณีที่บานประตูยื่นเข้าไปในชานพักมากเกินไป ให้เลื่อนประตูออกมา ตามข้อกำหนด ของ กทม. จะระบุว่า ความกว้าง ของชานพัก จะต้องไม่น้อยกว่า 1.2 เท่า ของความกว้าง ของขั้นบันได ซึ่งหากประตูหนีไฟกว้าง 90 ซม. ก็ยังคง มีชานพักเหลืออีกไม่น้อยกว่า 30 ซม. ในขณะที่ เปิดประตูเต็มที่ อย่างไรก็ตาม หากเป็นไปได้ ไม่ควรจะให้ ประตูยื่น เข้าไปใน ทางสัญจร ของบันได เพื่อให้ การเปิดประตู ไม่เป็น อุปสรรค กับการหนีไฟ

บันไดหนีไฟไม่ต่อเนื่อง

ลักษณะของปัญหา ตำแหน่งของช่องบันไดหนีไฟจากชั้นบนไม่ตรงกับชั้นล่าง เนื่องจากชั้นล่างเป็นห้องจัดเลี้ยงและห้องประชุม ทำให้ การหนีไฟ เป็นอุปสรรค และต้อง หนีผ่านพื้นที่ เสี่ยงอันตราย แนวทางแก้ปัญหา หลักการของบันไดหนีไฟที่สำคัญคือ บันไดหนีไฟจะต้องต่อเนื่อง นำสู่ชั้นล่าง และออกจากอาคารได้อย่างปลอดภัย เพราะ ช่องบันไดหนีไฟ ถือว่าเป็น พื้นที่ป้องกัน ประเภทหนึ่ง เมื่อใครหนีเข้าไปในพื้นที่นี้แล้ว จะต้องอนุโลมได้ว่าปลอดภัย และ สามารถ หนีออกนอก อาคาร ได้จากพื้นที่นี้

ดังนั้น เมื่อ ช่องบันไดไม่ตรงกัน ทางหนีไฟที่เชื่อมต่อระหว่างช่องบันไดทั้ง 2 ที่ จะต้องปรับสภาพให้เป็นพื้นที่ป้องกันด้วย โดย การให้โครงสร้าง ในส่วนนี้ เป็นโครงสร้าง ที่ทนไฟ ที่เทียบเท่ากับ บันไดหนีไฟ

ระบบสปริงเกลอร์ที่ไม่ได้มาตรฐาน

รูปที่ 44

ลักษณะของปัญหา เนื่องจากกฎกระทรวงไม่ได้กำหนดรายละเอียดทางด้านเทคนิคของระบบนี้ ที่ผ่านมาจึงพบว่า การติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน เช่น อาคารศูนย์การค้า จัดว่าเป็น Ordinary Hazard ที่ต้องมี หัวสปริงเกลอร์ไม่เกิน 13 ตร.ม.ต่อหัว แต่กลับติดตั้งแบบLight Hazard โดยมีหัวสปริงเกลอร์ 16 ตร.ม.ต่อหัว หรือ ติดตั้งห่างจากผนัง เกิน 2 เมตร หรือ ติดตั้ง ที่ระดับต่ำ จากเพดานเกิน 30 ซม.ทำให้หัวสปริงเกลอร์รับความร้อนได้ช้า หรือใส่ประตูน้ำ ในระบบท่อ โดยไม่มีระบบดูแลให้อยู่ในตำแหน่งที่เปิดตลอดเวลา นอกจากนี ้ยังมีปัญหาเรื่องขนาดถังน้ำและเครื่องสูบน้ำดับเพลิง

แนวทางแก้ปัญหา ถึงแม้ว่าระบบสปริงเกลอร์จะเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพในการดับเพลิงได้ดี แต่ก็ต้องมีปริมาณการฉีดน้ำ ลักษณะของ การฉีดที่ไม่ติด อุปสรรค ระยะเวลา ที่หัวแตก และฉีดน้ำที่รวดเร็วเพื่อให้สามารถ ดับเพลิงในระยะแรกได้

ในกรณีที่ ต้องเพิ่มหัว สปริงเกลอร์ และท่อน้ำที่ติดตั้งไว้เล็กไป อาจจะทำการคำนวณ เพื่อตรวจสอบ (Hydraulic Calculation) และ อาจจะ ใช้วิธี ต่อท่อเชื่อม ถึงกันเป็น วงแหวน เพื่อเพิ่ม ความสามารถ ในการส่งน้ำได้ หัวสปริงเกลอร์ ที่ต้องติดตั้งต่ำจาก เพดาน เนื่องจาก เลี่ยง อุปสรรค จากท่อลม หรือ รางไฟฟ้า จะ ต้องติดตั้ง แผ่นรับความร้อน เพื่อช่วย ในการแตกของหัวสปริงเกลอร์ ประตูน้ำ ที่ไม่จำเป็น ไม่ควรใส่ และเมื่อต้องปิดท่อเพื่อต่อท่อหรือหัวเพิ่ม บริเวณดังกล่าว จะต้องมีเจ้าหน้าที่ ดูแล แทนการทำงาน ของระบบ อยู่ตลอดเวลา การปิด ระบบ ควรจะปิดเพียงเวลาสั้นๆเพื่อเชื่อมท่อเท่านั้น การทำ ถังน้ำเพิ่ม และ การติดตั้ง เครื่องสูบน้ำ ถ้าจำเป็น ก็ต้องทำ หรือหาแหล่งน้ำข้างเคียงมาเสริม อาคารที่มี ลักษณะ เป็น กลุ่มอาคาร สามารถใช้แหล่งน้ำร่วมกันได้

HOSE RACK

ลักษณะของปัญหา Hose Rackเป็นอุปกรณ์สำหรับแขวนสายส่งน้ำดับเพลิงขนาด 1 1/2 นิ้ว เมื่อใช้สายส่งน้ำ ใช้วิธี ดึงสายส่งน้ำออกมาตลอดความยาว ของสายแล้ว เปิดวาล์วน้ำ ปัญหาที่พบก็คือ Hose Rack เป็นอุปกรณ์ที่ทำเลียนแบบมาก จึงมัก จะติดขัดเวลาใช้งานไม่สามารถดึงสายออกมาได้

รูปที่ 45

แนวทางแก้ปัญหา ยกเลิกHose Rackและม้วนสายขดไว้ในตู้ และหากจะให้เกิดความสะดวกในการใช้สายส่งน้ำดับเพลิงขนาดเล็ก ก็ให้เปลี่ยนมาใช้สายส่งน้ำที่เป็นสายยาง 1 นิ้ว ส่วนสายส่งน้ำสำหรับพนักงานดับเพลิง ยังคงใช้สาย 2 1/2 นิ้ว ม้วนเป็นขดไว้ในตู้

เครื่องดับเพลิงมือถือ

รูปที่ 46

ลักษณะของปัญหา นำเครื่องดับเพลิงไปไว้ในตำแหน่งที่อันตราย เมื่อเกิดเหตุจึงไม่สามารถเข้าไปนำมาใช้ได้ หรือใช้เครื่องดับเพลิงผิดประเภท เช่น ใช้ชนิดก๊าซในพื้นที่โล่งหรือมีลม หรือติดตั้งไว้ในกล่อง ซึ่งแม้จะมีช่องกระจกให้ทุบแตกได้ ช่องก็เล็กไป

แนวทางแก้ปัญหา การดับเพลิง ดับจากภายนอกเข้าไป ดังนั้น ตำแหน่งของเครื่องดับเพลิงควรจะอยู่ใกล้ประตูที่เห็นได้ชัดเจน เครื่องดับเพลิง ชนิด ผงเคมีจะมีประสิทธิภาพสูง กว่าชนิดก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์อย่างน้อยเท่าตัว และใช้ในที่โล่งหรือมีลมได้ ส่วนชนิด ก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ นั้นแพงกว่า หลายเท่า แต่เหมาะกับการดับไฟจากอุปกรณ์ไฟฟ้า ส่วนการนำไปใส่กล่อง ให้ตรวจสอบ ดูด้วยว่า ขนาดช่องกระจกใหญ่กว่าตัวเครื่อง และ กระจกบางพอที่จะทุบให้แตกได้ง่าย

ระบบอัดอากาศในบันไดหนีไฟ

รูปที่ 47

ลักษณะของปัญหา เนื่องปัญหาพื้นที่ในการจัดทำปล่องอัดลม ความเรียบของผิวในของปล่อง อุปสรรคจากคานและเสา สมรรถนะของพัดลม การรั่วที่ประตู และการปิดเปิดประตู ทำให้ระบบอัดอากาศส่วนใหญ่ใช้งานไม่ได้

แนวทางแก้ปัญหา หากเดิมมีพื้นที่ ก็คงไม่มีปัญหา แต่เมื่อมีปัญหาแล้วจะทำการขยายปล่องก็ทำได้ยาก อย่างไรก็ตาม หากเปลี่ยน มาใช้ ปล่องสังกะสี แทนปล่องก่ออิฐก็จะได้พื้นที่ปล่องมากขึ้น และที่สำคัญคือผิวในจะเรียบมากขึ้น หลังจากนั้น ให้ปรับปรุง สมรรถนะ ของ พัดลม และปรับปรุงให้มีการรั่วที่ประตูน้อยลง ตำแหน่ง ที่ดูดลมของพัดลมจะต้องไม่เสี่ยงต่อการดูดควันไฟย้อนกลับเข้าไป หากไม่แน่ใจ อาจ จะต้อง ต่อท่อลม เพิ่มเพื่อ รับลม ในตำแหน่ง ที่เสี่ยงน้อยลง ระบบไฟฟ้า ที่ป้อนให้กับพัดลม ต้องเป็นระบบไฟฟ้าฉุกเฉิน และ แนวทาง เดินสายไฟฟ้า เพื่อมาป้อนพัดลม จะต้องเดิน ในแนวทาง ที่ปลอดภัย หรือ ต้องใช้สายไฟชนิดทนไฟ (Fire Resistant Cable) การจัด ให้มี โถงกันควัน (Smoke Lobby) ก็เป็นวิธีหนึ่ง ในการป้องกัน ควันไฟ เข้าสู่บันไดหนีไฟ แต่โถงกันควันนี้ ควรจะ มีระยะห่าง ระหว่าง ประตู ทั้ง 2 บาน ไม่น้อยกว่า 1.80 ม. และ ควรจะ มีการอัดอากาศ หรือ เปิดช่องระบายอากาศในโถงนี้ด้วย

การป้องกันอัคคีภัยในระหว่างการก่อสร้าง

ลักษณะของปัญหา ในระหว่างการก่อสร้างมักจะมีกองวัสดุติดไฟค้างอยู่ มีสารไวไฟเช่นสีและทินเนอร์ มีแผงไฟฟ้าชั่วคราว ที่ต่อใช้ไฟฟ้า โดยไม่มีอุปกรณ์ตัดตอนเมื่อลัดวงจร มีสายไฟฟ้าชั่วคราวเกะกะอยู่ทั่วไป มีโคมไฟฟ้าชั่วคราว อุปกรณ์ เครื่องมือไฟฟ้า มีการเชื่อม ทำให้เกิดลูกไฟ ส่วนช่างก็มักจะสูบบุหรี่ทุกครั้งที่เผลอ แม้กระทั่งจุดไฟเพื่อไล่ยุง ในขณะที่ระบบความปลอดภัยต่างๆยังใช้งานไม่ได้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ส่งเสริมให้เกิดอัคคีภัยด้วยกันทั้งสิ้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไม จึง เกิดอัคคีภัย ในหน่วยงาน ก่อสร้าง อยู่บ่อยครั้ง จนเกือบทุกหน่วยงาน แนวทางแก้ปัญหา การแก้ปัญหาอยู่ที่การจัดระเบียบ การจัดให้กติกา และให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยประจำหน่วยงาน เพื่อคอยดูแล ให้ ทุกคน ปฏิบัติตามกติกาอย่างเคร่งครัด ร่างข้อกำหนด ดังต่อไปนี้ สามารถนำไปใช้เพื่อปฏิบัติให้เกิดความปลอดภัยในหน่วยงานก่อสร้างได้

ร่างกฎกระทรวง ว่าด้วย ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง

หมวดที่ 4 งานไฟฟ้าและการป้องกันอัคคีภัย

หมวดที่ 4.1 งานไฟฟ้า 4.1.1 วิศวกรควบคุม การติดตั้งและการใช้ระบบไฟฟ้าในหน่วยงานก่อสร้าง จะต้องอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบ และการดูแลของวิศวกรไฟฟ้าที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรม (กว.) ตาม ข้อกำหนด ของ กระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ วิศวกรไฟฟ้าดังกล่าว จะต้องเซ็นรับรองในเอกสารดังต่อไปนี้ 1. เอกสารรับรองการเป็นวิศวกรควบคุมงาน 2. แบบผังการจ่ายไฟฟ้า (Electrical Single Line Diagram) 3. รายการคำนวณปริมาณการใช้ไฟฟ้า 4.1.2 ระบบการจ่ายไฟฟ้า 4.1.2.1 หม้อแปลงไฟฟ้า การติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานของการไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตามเขตความรับผิดชอบ และ จะต้องติดตั้งในบริเวณที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานก่อสร้าง ไม่อยู่ใกล้สถานที่เก็บวัสดุไวไฟ และไม่เป็นทางผ่านของเครื่องจักรกลหนัก 4.1.2.2 สวิทช์ตัดตอนอัตโนมัติ การป้องกันอันตรายในระบบการจ่ายไฟฟ้าในหน่วยงานก่อสร้าง ให้ใช้สวิทช์ตัดตอนอัตโนมัติ (Circuit Breaker) เป็นอุปกรณ์ในการตัดวงจรไฟฟ้า เมื่อกระแสไฟฟ้าลัดวงจรหรือกระแสไฟฟ้าสูงเกินกว่าที่กำหนดไว้ 4.1.2.3 แผงไฟฟ้า 4.1.2.3.1 ให้มีแผงเมนไฟฟ้าเพื่อรับไฟฟ้าจากหม้อแปลงไฟฟ้า และให้มีแผงไฟฟ้าย่อยในแต่ละชั้นของอาคาร โดยจะต้องมีแผงไฟฟ้าย่อยนี้อย่างน้อย 1 แผงต่อชั้น และ หากพื้นที่ ต่อชั้น เกินกว่า 1000 ตรม. จะต้องให้มีแผงไฟฟ้าย่อยเพิ่ม โดยแต่ละแผงทำหน้าที่ควบคุมพื้นที่ไม่เกิน 1000 ตรม. 4.1.2.3.2 แผงไฟฟ้าจะต้องอยู่บนฐานที่แข็งแรงและยกสูงจากพื้น เพื่อป้องกันน้ำ และให้มีการป้องกันอันตรายกับผู้ที่เข้าใกล้ รวมทั้งการป้องกันความเสียหายของแผงไฟฟ้า เช่น การกระแทกจากการทำงานในหน่วยงานก่อสร้าง 4.1.2.3.3 หากติดตั้งแผงไฟฟ้าไว้นอกอาคาร แผงไฟฟ้าจะต้องเป็นชนิดที่ติดตั้งนอกอาคาร (Weather Proof) 4.1.2.3.4 หากติดตั้งในบริเวณที่มีฝุ่นมาก แผงไฟฟ้าจะต้องเป็นชนิดที่กันฝุ่น (Dust Proof) 4.1.2.3.5 ห้ามติดตั้งแผงไฟฟ้าในบริเวณที่เก็บเชื้อเพลิง ก๊าซไวไฟ หรือสารไวไฟ 4.1.2.4 สายไฟฟ้า 4.1.2.4.1 การเดินสายไฟฟ้าจากหม้อแปลงไฟฟ้าไปยังแผงเมนไฟฟ้าและแผงไฟฟ้าย่อยจะต้องเดินบนรางไฟฟ้า หรือ การเดินแบบ ปักเสาพาดสาย ตามข้อกำหนด ของ การไฟฟ้านครหลวง หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตามเขตความรับผิดชอบ 4.1.2.4.2 ในกรณีที่สายไฟฟ้าในข้อ 4.1.2.4.1 เดินนอกอาคาร หรือเดินในสถานที่เปียกชื้น ให้ใช้สายไฟฟ้าชนิด NYY หรือ VCT 4.1.2.4.3 สายไฟฟ้าชั่วคราวใช้ต่อจากแผงไฟฟ้าย่อยไปยังอุปกรณ์ไฟฟ้ากำลังทั้งหมดให้ใช้สาย NYY หรือ VCT และห้ามต่อสายในระหว่างทาง ยกเว้นว่าจุดต่อสายไฟจะมีคุณสมบัติของความเป็นฉนวนไฟฟ้าเทียบเท่ากับตัวสายไฟ และห้ามนำเศษสายไฟฟ้ามาใช้ 4.1.2.4.4 สายไฟฟ้าจะต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) 4.1.2.5 ปลั๊กไฟฟ้า ปลั๊กไฟฟ้าจะต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) เป็นแบบยูนิเวอร์แซล (Universal) และมีกราวด์ หากติดตั้ง นอกอาคาร จะต้องเป็น ชนิดที่ใช้นอกอาคาร (Weather Proof) และห้ามไม่ให้มีปลั๊กไฟฟ้าในบริเวณที่มีฝุ่นมาก ยกเว้นว่าจะใช้ปลั๊กทั้งตัวผู้และตัวเมีย เป็นชนิดกันฝุ่น (Dust Proof) 4.1.2.6 แสงสว่าง 4.1.2.6.1 โคมไฟฟ้าสำหรับการใช้แสงสว่างจะต้องมีครอบกันกระแทก 4.1.2.6.2 สำหรับโคมไฟฟ้าที่ติดตั้งอยู่กับที่จะต้องยึดโคมไฟฟ้าให้แข็งแรง ห้ามห้อยโคมไฟฟ้าโดยใช้สายไฟ ส่วนโคมไฟฟ้าที่ใช้งานเคลื่อนที่ นอกจากจะต้องมีครอบกันกระแทกแล้ว ยังจะต้องใช้สายไฟชนิด NYY หรือ VCT ด้วย 4.1.2.6.3 หากติดตั้งนอกอาคารโคมไฟฟ้าจะต้องเป็นชนิดใช้นอกอาคาร (Weather Proof) 4.1.2.6.4 หากติดตั้งในบริเวณที่มีฝุ่นมาก โคมไฟฟ้าจะต้องเป็นชนิดที่กันฝุ่น (Dust Proof) 4.1.2.7 สายดิน 4.1.2.7.1 จะต้องจัดให้มีระบบสายดินสำหรับหม้อแปลงไฟฟ้า,แผงไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ติดตั้งอยู่กับที่ทุกชนิด ส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้ากำลังอื่นๆให้มีสายกราวด์ เพื่อต่อกับปลั๊ก ที่มีกราวด์ ตามข้อ 4.1.2.5 4.1.2.7.2 การติดตั้งระบบสายดินจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานของการไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

เอกสารแนบท้าย

นโยบายความปลอดภัยจากอัคคีภัย (FIRE SAFETY POLICY)

ความปลอดภัย จากอัคคีภัยเป็นเรื่องที่มีความสำคัญกับชีวิตและสวัสดิภาพของผู้ใช้อาคาร จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดให้มี นโยบายความปลอดภัยจากอัคคีภัย (FIRE SAFETY POLICY) ซึ่งถือว่าเป็นข้อผูกมัด และเป็นความตั้งใจของผู้รับผิดชอบ ในอันที่จะดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน

1. ทั่วไป

นโยบายความปลอดภัยจากอัคคีภัย (FIRE SAFETY POLICY) ฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ เจ้าของ โครงการ และ บริษัท ที่เกี่ยวข้อง กับการปรับปรุง ระบบป้องกัน อัคคีภัย ของอาคาร มีความเข้าใจในนโยบายนี้ตรงกัน และยึดถือเป็นหลักปฏิบัติร่วมกัน เพื่อมิให้ เกิดปัญหา ในการ ปรับปรุงระบบอัคคีภัยของอาคาร จนทำให้ ระบบดังกล่าว ไม่ครบถ้วน สมบูรณ์ การปรับปรุง ระบบ อัคคีภัย จะพิจารณา นำกฏหมาย และ มาตรฐาน ที่เกี่ยวข้อง มาพิจารณา อย่างครบถ้วน ตามที่ระบุ เป็น มาตรฐานขั้นต่ำ ที่จะต้อง จัดทำ ต่อไป ซึ่งได้แก่ กฎกระทรวงฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2540 กำหนดเรื่อง การติดตั้ง ระบบ ความปลอดภัย เกี่ยวกับอัคคีภัยสำหรับอาคารเก่า, มาตรฐานการ ป้องกัน อัคคีภัย ของ สมาคมวิศวกรรมสถาน แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (มาตรฐาน ว.ส.ท.) และ มาตราฐานสากล เช่น มาตรฐาน NATIONAL FIRE PROTECTION ASSOCIATION หรือ มาตรฐาน NFPA

2. FIRE SAFETY POLICY

ระบบป้องกันอัคคีภัยที่จำเป็นต้องจัดทำ เพื่อให้การป้องกันอัคคีภัยของอาคารเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ FIRE SAFETY POLICY ประกอบด้วย 2.1 PASSIVE FIRE SAFETY 2.1.1 บันไดหนีไฟ ระยะห่างของบันไดหนีไฟแต่ละตัวตามแนวทางเดินจะต้องไม่เกิน 60 เมตร บันไดหนีไฟทุกตัวจะต้องมีระบบป้องกันไฟและมีอัตราการทนไฟได้ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง บันไดหนีไฟทุกตัวจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

  • มีอัตราการทนไฟของประตูไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง

  • อุปกรณ์ประตู เป็นแบบผลัก (PANIC BAR with DOOR CLOSER)

  • มีราวบันไดตามมาตรฐาน

  • มีป้ายบอกทางหนีไฟตามมาตรฐาน

  • มีอุปกรณ์สื่อสารสำหรับพนักงานดับเพลิง

  • มีป้ายบอกชั้น

  • มีระบบอัดอากาศ (กรณีบันไดหนีไฟอยู่ภายในอาคาร)

2.1.2 ทางหนีไฟแนวราบ ความกว้างให้เป็นไปตามมาตรฐาน ว.ส.ท. และมาตรฐาน NFPA 2.1.3 การกั้นแบ่งพื้นที่กันไฟลาม ช่องเปิดที่พื้นและผนังสำหรับงานระบบต่าง ๆ จะต้องทำ FIRE SEAL ทุกชั้น ห้องเก็บของ, ห้องเครื่องไฟฟ้า / เครื่องกล, โถงของลิฟต์ดับเพลิง จะต้องก่อสร้างด้วยวัสดุทนไฟได้ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง มีระบบ กันควัน สำหรับโถงลิฟต์โดยสาร 2.1.4 วัสดุที่ใช้ภายในอาคาร วัสดุที่ห้ามใช้ในอาคาร - FIBRE REINFORCED PLASTIC - EXPOSED POLYSTYRENE, POLYURETHANE FOAM วัสดุที่ควรจำกัดการใช้ในอาคาร - PLASTIC - TIMBER/PLYWOOD 2.1.5 ข้อเสนอแนะทั่วไป ควรพิจารณาใช้กระจกนิรภัยแทนกระจกธรรมดา ติดตั้งแบบแปลนบอกเส้นทางหนีไฟให้ชัดเจนทุกชั้น จัดตั้งศูนย์สั่งการดับเพลิงที่ชั้นล่างของอาคาร พิจารณาทางเข้าฉุกเฉินจากภายนอกอาคาร 2.2 ACTIVE FIRE SAFETY 2.2.1 ระบบป้องกันอัคคีภัย

  • ติดตั้งถังเก็บน้ำดับเพลิงสำรองอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

  • ติดตั้งระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงตามมาตรฐาน ว.ส.ท. และมาตรฐาน NFPA

  • ติดตั้งระบบท่อยืนตามมาตรฐาน ว.ส.ท. และมาตรฐาน NFPA

  • ติดตั้งระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัยตามมาตรฐาน ว.ส.ท.

  • ติดตั้งระบบควบคุมควันไฟตามมาตรฐาน ว.ส.ท. และมาตรฐาน NFPA

  • ติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือตามมาตรฐาน ว.ส.ท. และมาตรฐาน NFPA

2.3 การบริหารด้านความปลอดภัยจากอัคคีภัย

  • จัดตั้งหน่วยงานดูแลด้านความปลอดภัยจากอัคคีภัย

  • จัดทำแผนเกี่ยวกับการฝึกอบรมพนักงาน และจัดฝึกซ้อมการหนีไฟอย่างสม่ำเสมอ

  • จัดทำคู่มือเกี่ยวกับระบบป้องกันอัคคีภัย

  • จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นในการผจญเพลิง เช่น ชุดผจญเพลิง, หน้ากาก/ถัง อ๊อกซิเจน อุปกรณ์ช่วยชีวิต ฯลฯ

ด้วยข้อตกลงตามนโยบายความปลอดภัยจากอัคคีภัยข้างต้นนี้ ข้าพเจ้า ในนามของ ผู้บริหาร ได้พิจารณา และ เข้าใจใน เนื้อหา ดังกล่าว ทั้งหมดแล้ว เห็นด้วย และ จะปฏิบัติตาม นโยบายนี้ อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ระบบป้องกัน อัคคีภัยของอาคารบรรลุตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ พร้อมกันนี้ ข้าพเจ้า ได้ลงลายมือ ชื่อพร้อมประทับ บริษัท ไว้

ท้ายนี้ด้วยแล้ว

โดย เกชา ธีระโกเมน กันยายน 2542

Featured Posts