top of page

การตรวจสอบอาคารตามกฎหมายต้องตรวจสอบอะไรบ้าง


การตรวจสอบอาคารมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจเรื่องความปลอดภัยและการใช้งานอย่างถูกต้อง ไม่ใช่การตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมายหรือเพื่อจับผิดอาคาร ตรวจสอบได้เฉพาะในบริเวณ/ส่วนที่ไม่เป็นอันตรายกับผู้ตรวจสอบ ไม่ตรวจสอบสิ่งที่อาจก่อให้เกิดอันตราย หรือเกิดความเสียหายแก่อาคารหรือทรัพย์สิน

การตรวจสอบอาคาร ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบใหญ่หรือการตรวจสอบประจำปี จะมีการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้อาคาร โดยมีรายละเอียดทั้งหมด 4 ด้าน ดังนี้

1. การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร

ความมั่นคงและความแข็งแรงของอาคารเป็นสิ่งสำคัญต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะผู้ใช้อาคาร เพราะหากอาคารขาดความแข็งแรงปลอดภัย จะทำให้อาคารโค่น ทรุด และพังทรายลงมาในที่สุด ซึ่งสาเหตุที่ทำให้โครงสร้างของอาคารพังเสียหายนั้น อาจเกิดได้จากการที่อาคารดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ เช่น อัคคีภัย อุทกภัย แผ่นดินไหว การต่อเติมดัดแปลงอาคาร การขาดการบำรุงรักษา เป็นต้น

ผู้ตรวจสอบอาคารจะตรวจสอบและพิจารณาตามสภาพที่เห็นและการใช้งาน หากว่าโครงสร้างอาคารมีการเสื่อมสภาพที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย ก็จะให้เจ้าของอาคารหรือผู้ดูแลอาคารจัดการปรับปรุงแก้ไขต่อไป

รายการที่ต้องตรวจสอบ

  • การต่อเติม ดัดแปลง ปรับปรุงตัวอาคาร

  • การเปลี่ยนแปลงน้ำหนักบรรทุกบนพื้นอาคาร

  • การเปลี่ยนสภาพการใช้อาคาร

  • การเปลี่ยนแปลงวัสดุก่อสร้างหรือวัสดุตกแต่งอาคาร

  • การชำรุดสึกหรอของอาคาร

  • การวิบัติของโครงสร้างอาคาร

  • การทรุดตัวของฐานรากอาคาร

2. การตรวจสอบระบบและอุปกรณ์ประกอบของอาคาร

นอกจากโครงสร้างตัวอาคารแล้ว ระบบและอุปกรณ์ประกอบอาคารก็มีความสำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับความปลอดภัยด้วยเช่นเดียวกัน

ระบบและอุปกรณ์ประกอบอาคารที่ต้องตรวจสอบได้แก่ ระบบบริการและอำนวยความสะดวก ระบบสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย โดยการตรวจสอบนั้นจะมุ่งเน้นไปที่การประเมินความสามารถในการทำงานของระบบต่างๆ ว่าอยู่ในเกณฑ์ดี สามารถใช้งานได้ตามปกติ

2.1) ระบบบริการและอำนวยความสะดวก

ผู้ตรวจสอบอาคารจะเข้าไปตรวจสอบในส่วนของสภาพอุปกรณ์ ประสิทธิภาพการใช้งาน การดูแลรักษาและการซ่อมบำรุงที่ผ่านมา รวมถึงความปลอดภัยในการใช้งานต่างๆ

รายการที่ต้องตรวจสอบ

  • ระบบลิฟต์

  • ระบบบันไดเลื่อน

  • ระบบไฟฟ้า

  • ระบบปรับอากาศ

2.2) ระบบสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม

เป็นระบบที่มีความสำคัญต่อสุขภาพของผู้ที่ใช้อาคารและผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณข้างเคียง โดยปกติ ผู้ตรวจสอบอาคารจะตรวจสอบสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกอาคาร ตรวจสอบสภาพของอุปกรณ์ต่างๆ ประสิทธิภาพการจัดการ และการทำงานของระบบที่สำคัญจะต้องไม่สร้างมลพิษต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

รายการที่ต้องตรวจสอบ

  • ระบบประปา

  • ระบบระบายน้ำเสียและบำบัดน้ำเสีย

  • ระบบระบายน้ำฝน

  • ระบบจัดการมูลฝอย

  • ระบบระบายอากาศ

  • ระบบควบคุมมลพิษทางอากาศและเสียง

2.3) ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย

อัคคีภัย เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาโดยที่เราไม่รู้ตัว อีกทั้งยังสร้างความเสียหายแก่ชีวิต ทรัพย์สิน และความรู้สึกของผู้ได้รับผลกระทบอย่างสูง ด้วยเหตุนี้อาคารต่างๆ จึงจำเป็นต้องตรวจสอบระบบดังกล่าว เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในกรณีที่เกิดเหตุการณ์จริง ทั้งในแง่ของการป้องกันและระงับอัคคีภัย

รายการที่ต้องตรวจสอบ

  • บันไดหนีไฟและทางหนีไฟ

  • เครื่องหมายและไฟป้ายทางออกฉุกเฉิน

  • ระบบระบายควันและควบคุมการแพร่กระจายควัน

  • ระบบไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน

  • ระบบลิฟต์ดับเพลิง

  • ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้

  • การติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง

  • ระบบการจ่ายน้ำดับเพลิง เครื่องสูบน้ำดับเพลิงและหัวฉีดน้ำดับเพลิง

  • ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ

  • ระบบป้องกันฟ้าผ่า

3. การตรวจสอบสมรรถนะของระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ของอาคารเพื่ออพยพผู้ใช้อาคาร

ความสูญเสียต่อชีวิตจากเหตุการณ์เพลิงไหม้โดยเฉพาะอาคารที่มีคนเข้าไปใช้สอยเป็นจำนวนมากมีหลายสาเหตุด้วยกัน ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญคือ การสำลักควันไฟ เนื่องจากหนีออกนอกอาคารไม่ทัน ด้วยเหตุนี้อาคารต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีเส้นทางและสิ่งสนับสนุนอื่นๆ เพื่อให้สามารถอพยพออกจากอาคารได้อย่างทันท่วงที

รายการที่ต้องตรวจสอบ

  • สมรรถนะบันไดหนีไฟและทางหนีไฟ

  • สมรรถนะเครื่องหมายและไฟป้ายทางออกฉุกเฉิน

  • สมรรถนะระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้

4. การตรวจสอบระบบบริหารจัดการความปลอดภัยในอาคาร

ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา แต่ทุกวันนี้ภัยพิบัติต่างๆ เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น หากอาคารใดขาดระบบการบริหารจัดการความปลอดภัยที่ดีเมื่อเกิดภัยพิบัติ อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายที่เพิ่มมากขึ้น ในทางกลับกัน การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพจะช่วยบรรเทาความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน

รายการที่ต้องตรวจสอบ

  • แผนการป้องกันและระงับอัคคีภัยในอาคาร

  • แผนการซ้อมอพยพผู้ใช้อาคาร

  • แผนการบริหารจัดการเกี่ยวกับความปลอดภัยในอาคาร

  • แผนการบริหารจัดการของผู้ตรวจสอบอาคาร

คัดลอกจากเอกสารเผยแพร่ รู้รอบเรื่อง "การตรวจสอบอาคาร"

กองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร

เรียบเรียงโดย บริษัท วอรันเทค จำกัด

Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
No tags yet.
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
bottom of page