top of page

สถาปัตยกรรม กับ การป้องกันอัคคีภัยสำหรับอาคารต่างๆ


ในยุโรป ในสหรัฐอเมริกา ในสิงค์โปร์ มาเลเซียและฮ่องกง คนที่ประกอบวิชาชีพ ทางด้าน สถาปัตยกรรม จะต้องมีความรู้เรื่อง ข้อกำหนด ทางด้านการ ป้องกันอัคคีภัย อันเป็น ข้อกำหนดส่วนที่สำคัญที่สุดในการออกแบบอาคาร ข้อกำหนดบทแรกๆใน Architectural Building Codes ก็คือ Fire Safety Codes and Regulation ในประเทศไทย ยังไม่มี หลักสูตรทางด้านการป้องกันอัคคีภัยในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ แต่คณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ (กปอ ) ก็ได้เคยมีนโยบาย สวัสดิศึกษา เพื่อให้มีกา รสอนเรื่อง ความปลอดภัย ในสถานศึกษา และ หวังว่าใน

อนาคต ทบวงมหาวิทยาลัย และ กระทรวงศึกษาฯ ก็คงจะเห็น ความสำคัญ และ กำหนดให้มีหลักสูตรนี้เพิ่มใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ รวมทั้ง การศึกษา ในระดับโรงเรียน ต่อไป ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยแรกที่เริ่มให้มีหลักสูตร ทางด้านนี้ ทำไมสถาปนิกจึงต้องรู้เรื่องการป้องกันอัคคีภัย เพราะการออกแบบอาคาร เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้อาคารปลอดภัย หากเริ่มออกแบบด้วยหลักการที่ถูกต้อง อาคาร ก็จะปลอดภัย ด้วยตัวของมันเอง แต่หากเริ่มต้นไม่ดี ก็จะทำให้อาคารนั้นเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย และเกิดการสูญเสียมากกว่าที่ควร ความสูญเสีย จากเหตุการณ์ที่ โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ ซึ่งเป็นเหตุให้คนงานเสียชีวิตถึง 200 คน เป็นบทเรียนราคาแพง เป็นตัวอย่าง ของการออกแบบ โดยขาดความรู้เรื่องการทนไฟของโครงสร้างอาคาร และการจัดทางหนีไฟ จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้มี ข้อกำหนดเรื่อง อัตราการทนไฟ ในกฎกระทรวงฉบับที่ 48 (2540) และทำให้กระทรวงแรงงานฯกำหนดให้วันที่ 8-10 พ.ค. ทุกปี เป็นวันความปลอดภัย เพื่อ ระลึกถึง เหตุการณ์ครั้งนี้ ความสูญเสีย จาก เหตุการณ์ที่ โรงแรมรอยัลจอมเทียน พัทยา เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2540 ซึ่งเป็นเหตุให้พนักงาน กฟผ. บ.เสริมสุข และแขกของโรงแรมเสียชีวิต 90 คน บาดเจ็บ 51 คน ก็เป็นบทเรียนหนึ่งที่มีราคาแพง และเป็นอีกตัวอย่างของการออกแบบโดยขาดความรู้เรื่องทางหนีไฟ การปิดล้อมบันได และช่องท่อ ผนังและประตูทนไฟ รวมทั้งระบบป้องกันอัคคีภัย เหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้เกิดการพิจารณาปรับปรุงกฎกระทรวง และข้อกำหนดใหม่ๆอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะกฎกระทรวงฉบับที่ 47 (2540) ที่เน้นเรื่องการให้มีบันไดหนีไฟและการปิดล้อมบันไดโดยมีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง และเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ใช้บังคับกับอาคารเก่า นอกจากนี้ ยังจะทำให้มีข้อกำหนดที่ให้มีการประกันภัยให้กับผู้ใช้อาคาร และข้อบังคับให้มีการตรวจสอบอาคารและการต่ออายุการใช้อาคาร ซึ่งนับเป็นข้อกำหนดที่จะทำให้อาคารจะต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยที่สูงขึ้น การแก้ปัญหาด้วยการออกกฎหมาย ไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหา ตราบใดที่สถาปนิกยังแนะนำให้เจ้าของอาคารเลี่ยงกฎหมายอยู่ เช่น การสร้างอาคาร 1950 ตรม. สร้างอาคาร 9900 ตรม. หรือสูง 22.50 ม. เพียงเพื่อต้องการเลี่ยงข้อกำหนดในกฎหมาย โดยไม่ได้พิจารณาว่าอาคารหลังนั้น เป็นอาคารที่มีความเสี่ยงหรือไม่ หรือ หุ้มคานด้วยวัสดุทนไฟเฉพาะคานที่อยู่หัวเสา แต่ไม่หุ้มกันไฟที่คานรอง ทั้งๆที่ก็เป็นคานที่รับน้ำหนักเหมือนกัน หรืออ้างว่าการที่มีฝ้าเพดานยิปซั่มใต้โครงหลังคาก็ถือว่าเป็นการหุ้มกันไฟโครงหลังคาที่เพียงพอแล้ว ผู้ออกแบบอาคารคือผู้รับใช้สังคมและจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม สถาปนิกไม่ควรโยนความรับผิดชอบเรื่องการป้องกันอัคคีภัยไปที่ผู้อื่น ไม่สมควรอ้างว่าที่ออกแบบไปอย่างนั้น เพราะเป็นความต้องการของเจ้าของ ไม่ควรอ้างว่า ใส่บันไดหนีไฟไม่ได้เพราะเนื้อที่จำกัด ไม่ควรโยนเรื่องการวางผังทางหนีไฟไปที่วิศวกร ไม่ควรมองว่าข้อกำหนดทางด้านการป้องกันอัคคีภัยสร้างความยุ่งยากและสร้างข้อจำกัดในการออกแบบ อย่าลืมว่า คนที่ท่านรักก็อาจจะเป็นผู้ใช้อาคารที่ท่านออกแบบไว้ด้วยเช่นกัน สถาปนิก จะต้องศึกษามาตรฐานและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และหากเห็นว่ามาตรฐานและกฎหมายควรจะมีการปรับปรุง ก็ควรจะเสนอข้อความใหม่พร้อมเหตุผลผ่านสมาคมสถาปนิกสยามหรือสมาคมวิศวกรรมสถานฯ ซึ่งก็เป็นวิธีการเดียวกันกับการพัฒนามาตรฐานการป้องกันอัคคีภัยในสหรัฐอเมริกา ในอนาคต ยังหวังกันว่า กฎหมายจะมีลักษณะเอื้อกับการออกแบบในลักษณะ Performance Base Design ซึ่งทำให้การออกแบบระบบป้องกันอัคคีภัยอาศัยเหตุผลและหลักการทางด้านวิทยาศาสตร์ และต่างจากปัจจุบันที่มีลักษณะการออกแบบตามข้อบังคับ แต่ถึงตอนนั้น ผู้ออกแบบ จะต้องพิสูจน์ ความเป็นมืออาชีพและมีดวงดาวยาบรรณกว่าในปัจจุบันนี้ ออสเตรเลียเป็นประเทศแรกที่ใช้หลัก Performance Base Design แต่ก็พบปัญหาที่ผู้ออกแบบ อาศัยหลักนี้ใน การหลีกเลี่ยง การติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัย จึงต้องมีกรรมการพิจารณาก่อนการอนุมัติ บริษัทที่ปรึกษาฝรั่งที่มาทำโครงการในประเทศไทย ก็เคยอ้างหลักการนี้ ซึ่งเราก็ต้อง ระวังไม่ให้ถูก ฝรั่งหลอก เอาเหมือนกัน การป้องกันอัคคีภัย จะเริ่มที่โครงสร้าง และ งาน สถาปัตยกรรม ซึ่งอยู่ในส่วน PASSIVE โดยทำ ส่วนนี้ ให้ดีก่อน แล้วจึงจัดทำระบบป้องกันอัคคีภัย ซึ่งอยู่ในส่วน ACTIVE หลักการ ที่สำคัญ ในการป้องกัน อัคคีภัย คือ ต้องเข้าใจธรรมชาติของไฟ ที่สามารถ เติบโต จากเพลิงขนาดเล็กเป็นเพลิงขนาดใหญ่ได้ภายในเวลาไม่กี่นาที และเพลิงขนาดเล็กดับง่าย แต่เพลิงขนาดใหญ่ดับยากจะทำอย่างไร ที่จะจำกัดขนาด ของเพลิงและการแพร่ขยาย ของควันไฟและ ความร้อนระบบเตือนภัย จะต้องสามารถจับการเกิดควันไฟ และส่งสัญญาณได้อย่างทั่วถึง เจ้าหน้าที่ดับเพลิงจะต้องเข้าถึงจุดเกิดเหตุให้เร็วที่สุด มีพื้นที่ปฏิบัติการและมีอุปกรณ์พร้อม คนจะต้องหนีออกจากจุดเกิดเหตุในเวลาเพียงไม่กี่นาทีและหนีออกจากอาคารในเวลามากที่สุดไม่เกิน 1 ชั่วโมง ทางหนีไฟและบันไดหนีไฟจะต้องสะดวกและปลอดภัย เมื่อ หนี ออกจาก อาคารแล้ว ควรจะเตรียมพื้นที่รองรับที่เพียงพอ เพื่อการพยาบาลและตรวจสอบผู้สูญหาย จะควบคุมควันไฟ ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตได้อย่างไร และจะป้องกันการเกิดควันพิษได้อย่างไร การดับเพลิงใน อาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษจะต้องดับจากภายในอาคาร เรื่องการติดตั้งระบบหัวกระจายนำอัตโนมัติ หรือ ระบบสปริงเกลอร์ ก็มักจะสร้างภาพ กันว่า ระบบนี้ เป็นระบบ ที่มีราคาแพงมาก ซึ่งโดยความเป็นจริง การเดินท่อ และ ติดตั้ง หัวสปริงเกลอร์จะ ตกประมาณ 200-250 บาท/ตรม. เท่านั้น ในขณะที่ระบบสปริงเกลอร์สามารถช่วยจำกัดการขยายตัวของเพลิงในระยะเริ่มต้นได้เป็นอย่างดี ประหยัด ค่าหินอ่อน หรือ กระจก ลงเสียบ้าง ก็พอกับค่าติดตั้งระบบสปริงเกลอร์แล้ว มาตรฐานและกฎหมาย การจัดระบบป้องกันอัคคีภัยในประเทศไทย จะต้องสอดคล้องกับข้อกำหนดในกฎหมาย และในอนาคตกฎหมายจะอ้างอิงมาตรฐานสากลและมาตรฐานของ วสท. ด้วย เช่น การทดสอบอัตราการทนไฟอ้างอิงมาตรฐาน ASTM E-119 และกฎกระทรวงตามพรบ.ควบคุมอาคาร พรบ.คุ้มครองแรงงาน ที่จะออกใหม่ ก็จะมีการอ้างอิงมาตรฐานของ วสท. เราจึงควรทราบว่ากฎหมายและมาตรฐานที่สำคัญมีอะไรบ้าง การปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม โดยไม่มีกฎหมายหรือมาตรฐานอ้างอิง หากเกิดความผิดพลาด ความรับผิดชอบก็จะตกอยู่กับผู้ประกอบวิชาชีพนั้นแต่เพียงผู้เดียว 1. พรบ.ควบคุมอาคาร พรบ.ฉบับนี้ได้ประกาศใช้เป็นฉบับแรกในปี พ.ศ. 2522 และฉบับที่ 2 ในปี พ.ศ. 2535 เพื่อใช้ควบคุมการก่อสร้างอาคาร โดยมีกรมโยธาธิการ สังกัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบในการร่างกฎกระทรวง และมีคณะกรรมการควบคุมอาคาร ประกอบด้วยผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมอาคาร ผู้แทนจากหน่วยงานราชการ และผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้ยกร่างและปรับปรุงกฎกระทรวง ในขณะนี้ กำลังพิจารณากฎกระทรวงใหม่ ภายใต้พรบ.ควบคุมอาคารฉบับที่ 3 ในปัจจุบัน มีกฎกระทรวงอยู่ 51 ฉบับ และกฎกระทรวงฉบับที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันอัคคีภัยที่สำคัญได้แก่ ฉบับที่ 33( 2535 ) - ข้อกำหนดสำหรับอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ฉบับที่ 39( 2537 ) - ข้อกำหนดสำหรับห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว บ้านแฝด อาคารชุมนุม อาคารอยู่อาศัยเกิน 4 หน่วย หอพัก อาคารที่สูงเกิน 3 ชั้น ฉบับที่ 47( 2540 ) - ข้อกำหนดสำหรับอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารสาธารณะ อาคารอยู่อาศัยรวม โรงงาน ภัตตาคาร สำนักงาน (อาคารเก่า) ฉบับที่ 48( 2540 ) - ข้อกำหนดอัตราการทนไฟของโครงสร้างอาคาร ฉบับที่ 50( 2540 ) - มีข้อกำหนดเพื่อปรับปรุงข้อกำหนดในกฎกระทรวงที่ 33 พรบ.ฉบับนี้ไม่ครอบคลุมการใช้งานประจำวัน จึงไม่มีการตรวจสอบการทำงานของระบบความปลอดภัยว่าทำงานได้หรือไม่ ส่วนใหญ่ ระบบดังกล่าว จึงถูกละเลย และมักจะไม่อยู่ในสภาพ ที่พร้อมที่จะใช้งาน อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ายินดีที่มีข่าวว่าใน พรบ.ควบคุมอาคารฉบับที่ 3 จะให้ความสำคัญเรื่องการตรวจสอบระบบความปลอดภัยของอาคาร และ ยังจะมีข้อกำหนดเรื่องการให้มีการประกันภัยสำหรับผู้ใช้อาคาร ซึ่งจะมีผลทำให้การประกันภัย เห็น ความสำคัญ ของชีวิตมากขึ้น จากเดิมที่ให้ความสำคัญเฉพาะทรัพย์สิน และจะมีข้อกำหนดเพื่อให้มีการตรวจสภาพอาคารและการต่ออายุการใช้อาคาร ซึ่งจะ ลดการลักลอบ ดัดแปลง การใช้อาคาร และจะทำให้เกิดมาตรการเพื่อดูแลให้ระบบความปลอดภัยอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ 2. พรบ. คุ้มครองแรงงาน พรบ. ฉบับนี้ประกาศใช้ในปี พ.ศ.2541 เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของลูกจ้าง ในปัจจุบัน มีคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อยกร่างกฎกระทรวงว่าด้วยมาตรฐานความปลอดภัย ในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย ประกอบด้วยคณะอนุกรรมการหลายคณะซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยราชการ และผู้ทรงคุณวุฒิ ภายใต้การดำเนินการของกองตรวจความปลอดภัย พรบ.คุ้มครองแรงงานจะให้ความสนใจกับสถานประกอบการ ซึ่งหมายถึงสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันจะเน้นที่โรงงาน และสถานที่ก่อสร้าง เนื่องจาก มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุ เป็นจำนวนมาก และไม่ครอบคลุมที่อยู่อาศัย ถึงแม้ว่าจะมีพรบ.ใหม่ออกมาแล้ว แต่ในปัจจุบัน กระทรวงแรงงาน ยังคงใช้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในสถานประกอบการ เพื่อความปลอดภัยในการทำงานสำหรับลูกจ้าง ปีพ.ศ. 2534 โดยอาศัยอำนาจตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ปีพ.ศ. 2515 อยู่ เนื่องจากกฎกระทรวงใหม่ยังอยู่ในระหว่างการยกร่าง พรบ.นี้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับอาคารและทางหนีไฟ การดับเพลิง และการป้องกันอันตรายจากเชื้อเพลิงและวัตถุอันตรายด้วย แต่จะเน้นเรื่องความปลอดภัยของสถานประกอบการ และสวัสดิภาพของลูกจ้าง พรบ.ฉบับนี้ ยังกำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างเกิน 50 คน ต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย(จป) ประจำ และเน้นเรื่องการจัดทำแผนป้องกันและระงับอัคคีภัย เน้นเรื่องการอบรมและการฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมหนีไฟ 3. พรบ.ป้องกันและระงับอัคคีภัย พรบ.ฉบับนี้ประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2495 แก้ไขเพิ่มเติม ปี พ.ศ.2499 และเป็นกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและระงับอัคคีภัยโดยตรง แต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เนื่องจากไม่มีกฎหมายลูกรองรับเหมือนกฎหมายฉบับอื่น เมื่อวันที่ 19 เมษายน.2542 รัฐสภาฯได้ผ่านร่างพรบ.ฉบับนี้อีกวาระหนึ่ง โดยกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการดับเพลิง และเจ้าพนักงานท้องถิ่น อำนาจของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ในพรบ.ยังยกร่างแก้ไขมาตรา 6 ที่ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมการป้องกันและระงับอัคคีภัย เพื่อทำหน้าที่ 1. เสนอนโยบายและมาตรฐานการป้องกันและระงับอัคคีภัย 2. เสนอต่อรัฐมนตรี ในการประกาศกฎกระทรวง 3. เสนอต่อรัฐมนตรี ในการเพิกถอนหรือเว้นกิจกรรมที่เกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย 4. ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร มีอำนาจตามพรบ.ควบคุมอาคารและพรบ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ภายใต้ความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานคร ในการตรา ข้อบัญญัติ กรุงเทพมหานคร ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายท้องถิ่น ซึ่งมีข้อกำหนดเพิ่มเติมจากกฎกระทรวงในพรบ.ควบคุมอาคาร เช่น - ข้อบัญญัติฯ เรื่องอาคาจอดรถยนต์ ปี พ.ศ.2521 - ข้อบัญญัติฯ เรื่องการควบคุมการก่อสร้าง ปี พ.ศ.2522 - ประกาศฯ เรื่องกำหนดลักษณะของบันไดหนีไฟ และทางหนีไฟทางอากาศของอาคารปีพ.ศ. 2531 5. กฎหมายอื่นๆ นอกจากกฎหมายดังกล่าวแล้ว ยังมีพรบ.โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีข้อกำหนดเรื่องทางหนีไฟ ระยะปลอดภัย และเก็บเชื้อเพลิงและวัตถุไวไฟ พรบ.การประกันภัย ซึ่งล้าหลัง และ ให้ความสำคัญ เฉพาะ การประกันภัยทรัพย์สิน 6.มาตรฐาน วสท. สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยได้จัดทำมาตรฐานการป้องกันอัคคีภัย โดยคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมเครื่องกล และฉบับแรกปี พ.ศ.2526 ฉบับล่าสุดปี พ.ศ.2540 เพื่อกำหนดมาตรฐานของอาคารและการทนไฟ มาตรฐานระบบป้องกันอัคคีภัย มาตรฐานระบบควบคุมควันไฟ และ มาตรฐาน เกี่ยวกับ การหนีไฟ มาตรฐานนี้ใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิง และได้ถูกนำไปใช้ประกอบในการพิจารณาร่างกฎกระทรวง โดยคณะกรรมการ จะมีการพิจารณา ปรับปรุงมาตรฐาน เป็นระยะ เพื่อให้เหมาะสมกับการนำไปใช้งาน และให้ทันสมัย 7. มาตรฐาน NFPA มาตรฐานของ National Fire Protection Association สหรัฐอเมริกา หรือ NFPA เป็นมาตรฐานสากล ที่กำหนดมาตรฐาน การป้องกันอัคคีภัย ไว้อย่าง กว้างขวาง และได้รับการยอมรับมากที่สุดในขณะนี้ ในบางประเทศ เช่น เกาหลี และฟิลิปปินส์ ได้แปลมาตรฐาน NFPA เป็นภาษาท้องถิ่น แม้กระทั่ง วสท. ก็มักจะใช้มาตรฐานของ NFPA เป็นแนวทางในการร่างมาตรฐาน แต่ไม่ใช้วิธีการแปลมาโดยตรง เนื่องจากมาตรฐาน NFPA มีเนื้อหามาก ยากต่อการเข้าใจและติดตามการปรับปรุงได้ทั้งหมด ซึ่งหากแปลผิด แปลไม่ทันกับ edition ใหม่ ก็จะทำให้เกิดการสับสน นอกจากนี้ ในบางเรื่อง เช่น มาตรฐานระบบ Fire Alarm ทางคณะกรรมการของ วสท.ก็เห็นว่ามาตรฐาน NFPA นั้นมีจุดอ่อนอยู่ ดังนั้น มาตรฐาน วสท.จึงนำเฉพาะส่วนที่ดีจากหลายมาตรฐาน เช่น Australian Standards รวมทั้ง NFPA มาใช้ หรือ มาตรฐาน NEC ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐาน NFPA ก็ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานทางไฟฟ้าของประเทศไทย เนื่องจาก ประเทศ มีมาตรฐาน ของสายไฟฟ้า เป็น มอก. และใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้มาตรฐานยุโรปเป็นจำนวนมากด้วย 8. มาตรฐานการทดสอบ มาตรฐาน ที่เกี่ยวกับการทดสอบที่นิยมใช้กันก็คือมาตรฐาน American Society of Testing Material (ASTM) และBritish Standards(BS) โดยสถาบันที่รับทำการทดสอบที่รู้จักกันดีคือ Underwriters Laboratories, Inc. (UL) อุปกรณ์ที่ผ่าน การทดสอบจะถูกพิมพ์ในหนังสือรายการประจำปีที่เรียกว่า UL Listed นอกจากนี้ ก็ยังมี Factory Mutual(FM) ซึ่งรับรองมาตรฐานอุปกรณ์เครื่องสูบนน้ำดับเพลิง เครื่องตรวจจับเพลิง เป็นต้น 9.มาตรฐานอื่นๆ ยังมีมาตรฐานอื่นๆที่ถูกนำมาอ้างอิงในประเทศไทย เช่น FOC ของอังกฤษ มาตรฐานของสิงค์โปร์ มาตรฐานของมาเลเซีย หรือญี่ปุ่น ซึ่งแต่ละมาตรฐาน ต่างเกิดขึ้น จากพื้นฐาน และ สิ่งแวดล้อม ที่ต่างกัน จึงเป็นการยากที่จะนำมาใช้ในประเทศไทย และมักจะสร้างความสับสน องค์กรที่เกี่ยวข้อง ในปัจจุบัน องค์กรที่บทบาทที่สำคัญทางด้านการป้องกันและระงับอัคคีภัย มีดังนี้ 1. กระทรวงมหาดไทย 1.1 กองบังคับการตำรวจดับเพลิง - เป็นเจ้าหน้าที่ตามพรบ.ป้องกันและระงับอัคคีภัย เดิมสังกัดกับนครบาล จึงรับผิดชอบเฉพาะกทม. ส่วนในต่างจังหวัด เจ้าหน้าที่ดับเพลิง เป็นของเทศบาล ปัจจุบัน ย้ายมาสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และในอนาคต อาจจะเป็นสถาบันการดับเพลิงแห่งชาติ 1.2 กรมการปกครอง - ดูแลเจ้าหน้าที่ดับเพลิงในต่างจังหวัด 1.3 กรมโยธาธิการ - เป็นเจ้าหน้าที่ตามพรบ.ควบคุมอาคาร สำหรับการก่อสร้างทั่วประเทศ 1.4 กทม. - เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่น เพื่อบริหารกรุงเทพมหานคร โดยข้อบัญญัติและประกาศของกรุงเทพมหานคร มักจะถูกนำไปใช้อ้างอิงในจังหวัดอื่นๆด้วย 1.5 กว./กส - ควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านวิศวกรรม และสถาปัตยกรรม 2. กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม รับผิดชอบตามพรบ.คุ้มครองแรงงาน โดยมีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นผู้ดูแลเรื่องความปลอดภัยในสถานประกอบการ 3. กระทรวงอุตสาหกรรม รับผิดชอบตามพรบ.โรงงานอุตสาหกรรม โดยมีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้ดูแลเรื่องความปลอดภัย 4. คณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ (กปอ) คณะกรรมการนี้ มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีผู้อำนวยการสำนักงานฯ สังกัดสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นเลขานุการ ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยราชการ และมีสาขาอยู่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีคณะอนุกรรมการอยู่หลายคณะ เช่น คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณามาตรการป้องกันอัคคีภัยในอาคารสูง (อพส) เพื่อทำหน้าที่ วางแผน มารดาบท และ นโยบายของประเทศในเรื่องการป้องกันอุบัติภัย 5. กระทรวงพาณิชย์ รับผิดชอบตามพรบ.ประกันภัย โดยมีกรมประกันภัย เป็นควบคุมผู้ประกอบกิจการประกันภัย รวมทั้งระเบียบ สัญญาการประกันภัย ข้อกำหนดให้มีการประกันภัยบุคคลที่ 3 เป็นข้อกำหนดสำหรับรถยนต์ และเรือโดยสาร แต่ยังไม่เป็นข้อกำหนดสำหรับอาคาร ในต่างประเทศ ความรับผิดชอบกับสวัสดิภาพของผู้ใช้อาคาร เป็นที่มาของ Life Safety Codes บริษัทประกันภัยยังคงเป็นเพียงบริษัทนายหน้า และทำธุรกิจด้วยการประกันภัยต่อ ตัวแทนของบริษัทขาดความรู้ และเป็นผู้แนะวิธีเลี่ยงข้อกำหนดต่างๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น 6. สมาคม สมาคมที่เป็นแกนกลางในเรื่องการป้องกันอัคคีภัยในปัจจุบันคือ สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย โดยมีคณะกรรมการมาตรฐานทั้งทางด้านเครื่องกล และไฟฟ้ารับผิดชอบในการร่าง และปรับปรุงมาตรฐาน และมีคณะกรรมการเพื่อความปลอดภัยจากอัคคีภัยในอาคาร นอกจากนี้ที่ผ่านมายังได้รับความร่วมมือจากสมาคมสถาปนิกสยาม สมาคมช่างเหมาไฟฟ้าและเครื่องกลไทย สมาคมวิศวกรรมปรับอากาศแห่งประเทศไทย ชมรมวิศวกรออกแบบเครื่องกลและไฟฟ้าแห่งประเทศไทย สมาคมประกันวินาศภัย หลักการออกแบบ การกำหนดหลักการออกแบบที่เรียกว่า Design Concept ควรจะกำหนดหัวข้อการป้องกันอัคคีภัยไว้ด้วย สถาปนิกสามารถกำหนด Design Concept ที่เอื้ออำนวยต่อการป้องกันอัคคีภัย ได้ดังนี้ 1. การแบ่งพื้นที่ป้องกันไฟและควันไฟ 2. การหนีไฟ 3. การระบายควันไฟ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ 1. การแบ่งพื้นที่ป้องกันไฟและควันไฟ ตัวอย่าง การออกแบบอาคารสำนักงานที่ส่วนล่าง 5 ชั้นเป็นธนาคาร และส่วนบน 25 ชั้นเป็นสำนักงานให้เช่าขนาดเล็กหน่วยละ 50 ตร.ม. การแบ่งพื้นที่ป้องกันไฟส่วนล่าง และส่วนบนออกจากกันด้วยพื้นที่ทานอาหาร สวน และสันฑนาการที่ใช้การระบายอากาศตามธรรมชาติ บริเวณโถงทางเดินในส่วนบนของอาคารเปิดเป็น Atrium แต่มีการเจาะใช้เป็นร่องข้างอาคารตลอดความสูง และเปิดช่องระบายอากาศที่ยอดอาคาร ผนังกั้นระหว่างหน่วยใช้ผนังยิปซั่ม ซึ่งกันไฟได้อย่างน้อย 1 ชั่วโมง ทางเดินสู่ทางหนีไฟมีลักษณะเป็นระเบียงภายนอกและนำสู่ทางหนีไฟ 2 ทาง 2. การหนีไฟ ตัวอย่าง อาคารที่มี Atrium ที่มีหลังคาปิด โดยหลังคาออกแบบให้เป็นโดมที่เป็นปริมาตรรับควัน (Smoke Reservoir) เพื่อชลอการกระจายควันไฟเข้าสู่ชั้นบนของอาคาร และจัดให้มีระบบระบายควันออกจากโดมนี้ ในกรณีที่มี Auditorium อยู่ในชั้นบน บันไดหนีไฟจะต้องมีขนาดใหญ่เพียงพอในการหนีไฟสำหรับคนจำนวนมาก ทางหนีไฟมีอย่างน้อย 2 ทาง และมีประตูห้องที่มีคนเกิน 50 คน จะเปิดออกสู่ทางหนีไฟ 3. การระบายควันไฟ ตัวอย่าง การออกแบบระบบการระบายอากาศตามธรรมชาติ ซึ่งช่วยในการระบายควันไฟเมื่อเกิดอัคคีภัย การวางผังอาคาร การแบ่งประเภทของอาคารตามระดับความเสี่ยงจะแบ่งตามลักษณะการใช้งานเป็น 3 ประเภทดังนี้ ประเภทที่ 1 -สถานที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย อย่างเบา เช่น ที่พักอาศัย สำนักงาน สถานศึกษา สโมสร โรงภาพยนต์ โรงพยาบาล และสถานที่ไฟไหม้อย่างช้าหรือมีควันน้อยหรือไม่ระเบิด ประเภทที่ 2-สถานที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย อย่างปานกลาง เช่น โรงงาน ร้านค้า ร้านซักรีด เวทีการแสดง ห้องสมุดขนาดใหญ่ อู่ซ่อมรถและสถานที่ไฟไหม้อย่างปานกลาง มีควันปานกลางหรือมากแต่ไม่เป็นพิษหรือไม่ระเบิดได้ ประเภทที่ 3-สถานที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย อย่างร้ายแรง เช่น โรงเลื่อย โรงงานเฟอร์นิเจอร์ โรงทอผ้า อุตสาหกรรมยาง อุตสาหกรรมพลาสติก และสถานที่ไฟไหม้อย่างรวดเร็วหรือมีควันซึ่งเป็นพิษหรือระเบิดได้ เมื่อทราบประเภทของอาคารตามความเสี่ยงแล้ว ก็จะต้องจัดให้มีระบบป้องกันอัคคีภัยที่สอดคล้องกับข้อกำหนดในกฎหมายและมาตรฐานสำหรับประเภทของอาคารนั้น ตัวอย่างการจัดให้ถังน้ำดับเพลิง และเครื่องสูบน้ำดับเพลิงอยู่นอกอาคาร เพื่อให้สามารถเข้าถึงใช้งานได้ขณะที่เกิดอัคคีภัย องค์ประกอบที่จะต้องพิจารณาในการวางผังอาคารที่สำคัญมีดังนี้ คือ 1. ขนาดและความสูงของอาคาร พรบ.ควบคุมอาคาร ได้กำหนดนิยามของอาคารไว้ โดยมีนิยามโดยย่อที่สำคัญคือ อาคารสูง - อาคารที่สูงกว่า 23.00 ม.ถึงชั้นดาดฟ้า หรือยอดผนังชั้นสูงสุด อาคารขนาดใหญ่พิเศษ - อาคารที่มีพื้นที่เกิน 10,000 ตรม. อาคารขนาดใหญ่ - อาคารที่มีพื้นที่เกิน 2,000 ตรม. หรือสูงกว่า 15.00 ม. และมีพื้นที่อาคารเกิน 1000 ตรม อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารขนาดใหญ่ รวมทั้ง คลังสินค้า โรงมหรสพ โรงแรม อาคารชุด สถานพยาบาล และอาคารพาณิชย์ อุตสาหกรรม การศึกษา การสาธารณสุข สำนักงาน สูงเกิน 3 ชั้น หรือมีพื้นที่เกิน 1000 ตรม. จะต้องมีโครงสร้างเสาและคานที่มีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง และพื้นไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง (กฎกระทรวงฉบับที่ 48) อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ จะต้องมีถนนโดยรอบกว้างไม่น้อยกว่า 6.00 ม.สำหรับรถดับเพลิง และกว้างไม่น้อยกว่า 12.00 ม.สำหรับด้านที่ติดถนนสาธารณะ นอกจากนี้ จะต้องประกอบด้วย - ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ - บันไดหนีไฟ ลมงกันไม่เกิน 60.00 ม. - ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ - ระบบไฟฟ้าฉุกเฉิน - ลิฟต์ดับเพลิง - ดาดฟ้าที่มีความกว้าง ยาว ด้านละไม่น้อยกว่า 10.00 ม. - ระบบระบายควันไฟสำหรับโถงภายในอาคารที่สูงเกิน 2 ชั้น (กฎกระทรวงฉบับที่ 33 และ 50) นอกจากข้อกำหนดทางกฎหมายดังกล่าวแล้ว ยังมีข้อควรปฏิบัติดัง นี้ ในกรณีที่อาคารมีพื้นที่ต่อชั้นมาก ควรจะพิจารณาแบ่งพื้นที่ป้องกันแนวราบ และหากอาคารสูงมาก เช่น สูงกว่า 30 ชั้น ควรจะพิจารณาให้มีการแบ่งพื้นที่ป้องกันแนวตั้ง และให้มีพื้นที่หลบภัย (Refuge area) 2. สภาพโดยรอบอาคาร หากอาคารก่อสร้างในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เช่น ใกล้คลังน้ำมัน อยู่ในตลาดผ้า ใกล้โรงงาน ใกล้คลัง สินค้า ก็ควร พิจารณา ระยะปลอดภัย ที่เหมาะสม รวมทั้งผนังทนไฟ และระบบดับเพลิงภายนอกอาคาร โรงงาน โดยทั่วไป ที่มีเครื่องจักร หรือเตาไฟ ตัวอาคารจะต้องมีระยะลมงจากเขตที่อย่างน้อย 10.00 ม. ทุกด้าน และโรงงานที่เข้าข่ายประเภทที่ 3 จะต้องลมง 20.00 ม. ส่วนโกดัง ตัวอาคาร จะต้องมีระยะลมง 10.00 ม.อย่างน้อย 2 ด้าน และด้านที่เหลือ ถ้าลมงน้อยกว่า 5.00 ม.จะต้องมีผนังเป็นผนังกันไฟ 3. การแบ่งพื้นที่ป้องกัน การแบ่งพื้นที่ป้องกัน โดยการวางอาคารแยกจากกัน (Fire Separation) ช่วยลดความเสี่ยง และความเสียหาย เช่น การแยกอาคารสำนักงานออกจากอาคารโรงงาน การแยกอาคารโรงงานเป็นหลายหลัง การสร้างอาคารเก็บเชื้อเพลิงและวัตถุไวไฟไว้ภายนอก การแยกอาคารส่วนสนับสนุน (Utility Building) โดยให้มีระยะปลอดภัย (Safety Distance) ตามมาตรฐาน นอกจากนี้ ยังสามารถแบ่งพื้นที่ป้องกันด้วยผนังทนไฟ (Fire Compartment) ในแนวราบและแนวตั้ง 4. ทางหนีไฟ กำหนดหลักการ (Concept) ของทางหนีไฟ ในระหว่างการวางผังอาคาร ได้แก่ - ตำแหน่งบันได ทุกระยะ 60.00 ม. ต้องมีอย่างน้อย 2 บันได และอย่างน้อย 1/2 จะต้องออกสู่ ภายนอกอาคาร ได้โดยตรง - ทางหนีไฟจะต้องถูกปิดล้อมต่อเนื่องจากบนลงล่าง - ขนาดของบันได จะต้องเพียงพอสำหรับการอพยพภายใน 1 ชั่วโมง - ทางหนีไฟ ต้องมีอย่างน้อย 2 ทาง และ 3 ทางเมื่อเกิน 500 คน 4 ทางเมื่อเกิน 1000 คน - ทางเดินภายในอาคารที่ใช้เป็นทางหนีไฟจะต้องปิดล้อมทนไฟอย่างน้อย 1 ชั่วโมง - การใช้ระเบียงภายนอกอาคารเป็นทางหนีไฟ -ระยะทางตันไม่เกิน 10.00 ม. 5. ลิฟต์ดับเพลิง ในกฎกระทรวงกำหนดให้มีลิฟต์ดับเพลิงไม่น้อยกว่า 1 ชุด สำหรับอาคารสูง โดยจะต้องปิดล้อมและมีโถงลิฟต์ไม่น้อยกว่า 6 ตรม. เพื่อช่วยให้ เจ้าหน้าที่ ดับเพลิง เข้าถึง แหล่งต้นเพลิง ได้เร็วขึ้น และช่วยในการลำเลียงอุปกรณ์ผจญเพลิง นอกจากนี้ ลิฟต์ดับเพลิง ยังใช้ ในการ อพยพ คนพิการ ผู้สูงอายุด้วย สำหรับ อาคารสูง ที่มีพื้นที่ ต่อชั้นมาก ควรจะจัดให้มีลิฟต์ดับเพลิงหลายชุด เพื่อใช้สำรอง และ เพื่อให้ สามารถ ใช้งานตาม จุดประสงค์ ดังกล่าว ในกฎกระทรวง ระบุให้ลิฟต์ดับเพลิงต้องจอดทุกชั้น ซึ่งมีปัญหาสำหรับชั้นจอดรถซึ่งในทาง ปฏิบัติ อาจจะจอดได้เพียงชั้นเว้นชั้น เนื่อง ข้อจำกัดของ ความสูงที่จอดรถ และ ความเร็วลิฟต์ ในกรณีที่จอดชั้นเว้นชั้น น่าจะยอมให้ได้ หากมีบันได ที่ปิดล้อมด้วย ผนังกันไฟ ประกอบอยู่กับ ลิฟต์ดับเพลิงในกฎกระทรวงยังกำหนดให้ลิฟต์ใช้เวลาวิ่งถึงชั้นบนสุดภายใน 1 นาที ซึ่งมีปัญหาสำหรับอาคารที่สูงมาก และอาคารที่แบ่งลิฟต์เป็น High Zone/Low Zone ในทางปฏิบัติ อาคารที่สูงไม่เกิน 30 ชั้น สามารถทำตามข้อกำหนดได้ แต่หากอาคารสูงกว่านี้ ก็ควรให้ ความเร็วลิฟต์ ที่เหมาะสมได้ โดยลิฟต์ดับเพลิงไม่ควรจัดแบบ High Zone/Low Zone เนื่องจากจะทำให้เสียเวลาในการย้ายลิฟต์มาก และ อาจจะ มีอุปสรรค อื่นๆอีก มาตรฐานลิฟต์ ได้กำหนดไว้ในมาตรฐานของวสท.ซึ่งประกอบด้วยมาตรฐานลิฟต์โดยสาร ลิฟต์สำหรับคนพิการ ลิฟต์ขนของ ลิฟต์ดับเพลิง โดยหลักการ ลิฟต์ดับเพลิงจะต้องแยกออกจากลิฟต์โดยสาร โดยกั้นปล่องลิฟต์ และ ห้องเครื่องลิฟต์ แยกจาก ปล่องลิฟต์ และ ห้องเครื่อง ลิฟต์โดยสาร ด้วยผนังกันไฟ เพื่อป้องกันอันตรายจาก ปล่องลิฟต์โดยสาร ซึ่งมักจะมีลักษณะเป็นปล่องไฟเมื่อเกิดอัคคีภัย เนื่องจาก อาคาร เกือบทุกหลัง ไม่ได้มีการปิดล้อม โถงลิฟต์โดยสาร ไม่มีระบบจ่ายไฟฟ้าสำรองที่เพียงพอ ระบบ จ่ายไฟฟ้า และ ห้องเครื่อง ไม่ได้ทนไฟ นอกจากนี้ หากมีการใช้ลิฟต์โดยสารเมื่อเกิดอัคคีภัย ลิฟต์จะจอดค้างเนื่องจากความชุลมุน ดังนั้น จึงห้ามใช้ลิฟต์ เมื่อเกิดอัคคีภัย และจะต้องมีระบบไฟฟ้าสำรองเพื่อนำลิฟต์ลงมาจอดที่ชั้นล่างของอาคาร ถึงในต่างประเทศ จะเริ่มมีการ พิจารณาว่า จะใช้ลิฟต์ ในการอพยพคน ได้อย่างไร เนื่องจากในอาคารที่สูงมาก เช่น 40-60 ชั้น การอพยพ ด้วยบันไดอย่างเดียว จะเสียเวลา และ เป็นปัญหากับ คนมีอายุ แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุป เนื่องจาก ความยุ่งยากในการจัดการอพยพ และ โถงลิฟต์ดับเพลิง จะต้องมีการปิดล้อม ที่มั่นใจได้จริงๆ หาไม่แล้ว ผู้ใช้ลิฟต์ จะมีสภาพเหมือนอยู่ในปล่องไฟดีๆนี่เอง 6. การจ่ายน้ำดับเพลิง ถังน้ำสำรองน้ำดับเพลิงควรจะสามารถเข้าถึงได้จากภายนอกอาคารโดยสะดวก และมีระบบเครื่องสูบน้ำดับเพลิง เพื่อ สูบน้ำจากถัง โดยมี ระดับน้ำ ในถังสูงกว่า เครื่องสูบน้ำ (Positive Suction) ในกฎกระทรวงให้มีการสำรองน้ำสำหรับการใช้งานไม่น้อยกว่า 1/2 ชั่วโมง แต่ในทาง ปฏิบัติ จะต้องสำรองน้ำไม่น้อยกว่า 1-2 ชั่วโมง และหากเป็นไปได้ ควรจะแยกถังสำรองน้ำดับเพลิงออกต่างหาก เพื่อให้มั่นใจว่า จะมีน้ำสำหรับ การดับเพลิง อยู่เสมอ และป้องกันไม่ให้น้ำดับเพลิงไปทำให้น้ำประปาปนเปื้อน (Contamination) เนื่องจาก การทดสอบ เครื่องสูบน้ำ ดับเพลิง จะมีการระบายน้ำกลับลงสู่ถังน้ำด้วย น้ำจากสระน้ำและบ่อน้ำ ไม่สามารถนับเป็นน้ำสำรองสำหรับการดับเพลิงหลักได้ เนื่องจากระดับน้ำที่ไม่คงที่ และการเก็บน้ำที่ไม่แน่นอน แต่สามารถใช้เป็นแหล่งน้ำดับเพลิงเสริมได้

7. ศูนย์การดับเพลิง ใช้เป็น ห้องสำหรับบัญชาการ เมื่อเกิดเหตุ และเป็นห้องที่ติดตั้งแผงแสดงสัญญาณ และ แผงควบคุม ระบบป้องกันอัคคีภัย ระบบสื่อสาร อุปกรณ์ฉุกเฉิน รวมทั้ง เอกสาร และ แผนผังของ อาคารห้องนี้ ควรจะอยู่ในชั้นล่าง ๆ ของ อาคาร ที่เข้าถึงได้ จากภายนอก อาคาร และ กั้นแบ่งจากอาคาร ด้วยผนังทนไฟ ที่มีอัตรา การทนไฟ ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง 8. รถดับเพลิง กำหนดตำแหน่งของที่จอดรถดับเพลิง และทำสัญลักษณ์ที่ชัดเจน บริเวณดังกล่าว จะมี หัวรับน้ำ ดับเพลิง และหัวดับเพลิง อยู่ด้วย กำหนด แนวทางการเข้าออกและทางวิ่งของรถดับเพลิง ในการวางผังอาคาร เพื่อให้รถดับเพลิงและ รถน้ำเข้ามาปฏิบัติการ ได้ในทันที และ สามารถนำน้ำเข้ามาเสริมได้ 9. ทางเข้าออกฉุกเฉิน กำหนดทางเข้าออกฉุกเฉินของอาคาร เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้โดยตรงสำหรับ ทางหนีไฟและบันไดหนีไฟ - ลิฟต์ดับเพลิง - ศูนย์การดับเพลิง - ห้องเครื่องสูบน้ำดับเพลิง สำหรับอาคารที่มีผนังปิดทึบ ซึ่งยากต่อการเจาะ ควรจะจัดให้มีช่องทางฉุกเฉินจากภายนอกเข้าสู่อาคาร โดยภายในอาคารจะต้องมีไม่มีอุปสรรคกีดขวางช่องเปิดฉุกเฉินนี้ 10. หัวดับเพลิง กำหนดตำแหน่งหัวดับเพลิง และประสานงานกับการประปาฯ การติดตั้งหัวดับเพลิง เพื่อใช้ในการส่งน้ำดับเพลิงให้กับอาคาร การทนไฟของอาคาร การทนไฟของอาคารทำให้มีเวลาเพียงพอกับการอพยพหนีไฟ จำกัด การขยายตัวของเพลิง และทำให้อาคาร ปลอดภัยต่อ การเข้า ผจญเพลิง ของ เจ้าหน้าที่ดับเพลิง 1. อัตราการทนไฟ มาตรฐานและกฎหมายในปัจจุบันจะให้ความสำคัญกับอัตราการทนไฟของอาคารมากขึ้น เนื่องจาก เห็นว่าหาก อาคาร การแบ่งพื้นที่ป้องกัน และ มีอัตรา การทนไฟ ที่เหมาะสม อาคารก็จะเสี่ยงต่อ การเกิดอัคคีภัย ขนาดใหญ่น้อยลง อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก มีปัญหาการปรับปรุง อาคารเก่า รวมทั้งการที่ภาครัฐ ไม่ต้องการ สร้างภาระให้กับ เจ้าของอาคาร มากเกินไปใน ขณะนี้ การกำหนดอัตราการทนไฟ จึงเน้นที่อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ และอาคารขนาดใหญ่ โดย กำหนดให้ โครงสร้าง เสา และ คาน มีอัตราทนไฟ ไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง พื้นไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง บันไดที่ไม่ใช่บันไดหนีไฟไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง และ บันไดหนีไฟ ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง (เทียบเท่าคอนกรีตหนาอย่างน้อย 10 ซม.) และบันไดหนีไฟสำหรับอาคารเก่า (กฎกระทรวงฉบับที่ 47) ก็เพียงแต่ ระบุให้ปิดล้อมบันไดด้วย วัสดุที่ไม่ติดไฟ ซึ่งในทางปฏิบัติจะใช้อัตราทนไฟไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง และสามารถใช้ผนังยิปซั่ม ซึ่งมี น้ำหนักเบา ในการ ปิดล้อม บันไดได้ อย่างไรก็ตาม ตามาตรฐาน สากลการปิดล้อมบันไดจะต้องมีอัตราการทนไฟอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ส่วนห้องเครื่อง ก็จะมี อัตราการทนไฟ ที่แตกต่างกันไป 2. การปิดล้อม การปิดล้อมเพื่อป้องกันไม่ให้ช่องเปิดระหว่างชั้นของอาคารเป็นช่องทางของการแพร่กระจายของควันไฟ เปลวไฟ และความร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่องที่เปิดทะลุถึงกันหลายชั้น ปล่องลิฟต์และปล่องบันได ซึ่งจะมีสภาพเป็นปล่องไฟได้ การเสียชีวิต 91 ชีวิตในอัคคีภัยที่โรงแรมรอยัลจอมเทียน พัทยา เป็น ข้อพิสูจน์ถึง อันตราย จากการ แพร่กระจาย ของควันไฟ และ ความร้อน ผ่านบันไดทุกตัว รวมทั้งบันไดหนีไฟ ช่องท่อสุขาภิบาล และปล่องลิฟต์ ดังนั้น การปิดล้อม จึงเป็นความจำเป็น ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การปิดล้อมอาศัยผนังและประตูทนไฟ และในกรณีของบันได เมื่อปิดล้อมแล้ว ผู้ใช้บันได จะต้องสามารถ สัญจร จนถึง ทางออก ที่ชั้นล่าง ของอาคาร อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องออกจากพื้นที่ปิดล้อมอีก สำหรับอาคารที่สร้างใหม่ กฎกระทรวงฉบับที่ 50 ข้อ 10 ทวิ ระบุให้ต้องจัดให้มีระบบการควบคุมการแพร่กระจายของควัน (หมายถึง ระบบระบายควันไฟ) สำหรับช่องเปิดทะลุพื้นอาคารตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไป ซึ่งช่องเปิดโล่งนี้หมายถึง Atrium โดย ไม่ได้ ระบ ุลักษณะ ของ Atrium ที่ชัดเจน แต่ในมาตรฐานวสท.ระบุว่า ช่องเปิดที่เป็น Atrium คือช่องเปิดที่มีขนาดเกิน 93 ตรม. และ มีความกว้างด้านหนึ่งไม่น้อยกว่า 6 ม. การควบคุมการแพร่กระจายของควันไฟใน Atrium ที่ได้ผล ควรจะออกแบบดังนี้ 3. การอุดกันไฟ อาคารเก่าจำนวนมากจะไม่ปิดช่องว่างที่เหลืออยู่จากการเดินท่อ เช่น ท่อระบบสุขาภิบาล ช่องเดินสายไฟฟ้า เนื่องจากเห็นว่ายุ่งยาก และ เสียค่าใช้จ่าย โดยเข้าใจว่า กฎหมาย ไม่ได้บังคับเรื่องนี้ หนักไปกว่านั้น อาคารจำนวนมากยังใช้ช่องท่อเป็นช่องระบายอากาศ โดยไม่มี การป้องกันไฟการที่กฎหมาย ระบุให้พื้นอาคารต้องมีอัตราการทนไฟอย่างน้อย 2 ชั่วโมงนั้น หากมีช่องเปิดที่ไม่มีการป้องกัน ก็เป็นไปไม่ได้ ที่พื้นนั้น จะมี อัตราการทนไฟตามที่กำหนดดังนั้น ช่องท่อจะต้องปิดและใช้วัสดุเพื่ออุดกันไฟทุกชั้น ในทางปฏิบัติ ผู้รับเหมาจะเทพื้นให้เหลือช่องเปิดให้น้อย แล้วจึงอุดปิดด้วย ฉนวนใยหิน หรือใยแก้ว Fire Barrier และ Fire Seal ซึ่งมักจะมีคุณสมบัติพองตัวเมื่อถูกความร้อนและกลายสภาพเป็นเซรามิก ส่วน ท่อพีวีซี จะใช้ Fire Coupling รัดกับท่อ เมื่อถูกความร้อนและท่อพีวีซีละลายหายไป สารที่อยู่ใน Coupling จะพองตัวและอุดช่องว่างเองสำหรับท่อลมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นท่อแอร์ หรือท่อระบายอากาศ จะใช้ลิ้นกันไฟ (Fire Damper) หรือยิ่งไปกว่านั้น อาจจะใช้ลิ้นกันควันไฟ (Smoke Damper)ท่อที่เดินในแนวราบที่ผ่านผนังทนไฟและพื้นที่ปิดล้อม ก็ต้องอุดกันไฟเช่นเดียวกัน 4. วัสดุทนไฟ วัสดุทนไฟมีหลายชนิด ผนังคอนกรีตหรือผนังก่ออิฐ ก็เป็นวัสดุที่ทนไฟได้ดีและมีอัตราทนไฟมากกว่า 1 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ผนังคอนกรีต และ ผนังก่ออิฐเป็นผนังที่มีน้ำหนักมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผนังทนไฟจะสูงพื้นยันพื้น แผ่นยิปซั่ม ก็เป็นวัสดุที่ทนไฟได้ดี และ สะดวก เบา ราคาก็ไม่แพง จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดี กระจก ถึงแม้ว่าจะเป็นกระจกทนไฟ ไม่แตกง่ายที่อุณหภูมิสูง แต่ก็ไม่ควรใช้ เนื่องจากกระจกป้องกันการแผ่รังสีไม่ได้ และไม่เป็นฉนวนที่ดีพอ ส่วนกระจกพิเศษ (Laminated Glass with Intumescent) ก็มี ราคา แพง มาก แผ่นแคลเซี่ยม ซิลิเกต ก็ป้องกันความร้อนได้ดี แต่ติดตั้งยากและมีราคาแพง แผ่นเส้นใย เช่น ใยหิน ใยแก้ว ใช้ใน การป้องกัน การนำความร้อน ได้ดี และ นิยมใส่ ภายใน ผนัง และ ประตูทนไฟ โลหะ ถึงจะไม่ติดไฟแต่นำความร้อนได้ดี จึงต้องใช้ประกอบกับฉนวน ประตูเหล็ก ที่ไม่มีฉนวน จึงไม่ใช่ประตูทนไฟ และโครงสร้างเหล็ก จึงต้อง มี การหุ้ม กันไฟด้วยเวอร์มิคูไลท์หรือยิปซั่ม โฟมทุกชนิด ไม่ใช่วัสดุทนไฟ ถึงจะ ผสมสารป้องกันการลามไฟ (Fire Retardant) และมีคุณสมบัติดับได้เองเมื่อไม่ถูกเปลวไฟ (Self Extinguished) ดังนั้น ผนังห้องเย็น Sandwich Panel จึงไม่ใช่ ผนังทนไฟ การหนีไฟ การอพยพหนีไฟที่มีประสิทธิภาพ ช่วยลดการเสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากเหตุอัคคีภัย โดยเวลา ที่ใช้ในการหนีไฟ จากพื้นที่เกิดเหตุ ควร จะใช้เวลา เพียงไม่เกิน 6-7 นาที และสำหรับอาคารที่มีลักษณะเป็นอาคารที่มีปริมาตรเดียว (Single Volume) คนจะต้องหนีออกหมด ก่อนที่ควันไฟ จะลอยต่ำลงมาถึงระดับที่เป็นอันตราย ซึ่ง ในการคำนวณ ระบบระบายควัน ตามมาตรฐานวสท. จะกำหนดให้ ระดับควันไฟ ไม่ต่ำกว่า 3.00 ม. ส่วนมาตรฐานของออสเตรเลียจะกำหนดไว้ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 2.00 ม. 1. TWO - WAYS ท่านจะพบว่า หัวข้อนี้จะถูกเน้นซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากเป็นหลักการสำคัญมาตรฐานวสท.กำหนดให้ทางออก 2 ทางนี้ ต้องอยู่ลมงกันไม่น้อยกว่า 1/2 ของเส้นทแยงมุมของห้อง ส่วนใน NFPA จะให้ลมงไม่น้อยกว่า 1/3 หากติดตั้งระบบสปริงเกลอร์ 2. ทางหนีไฟ ในมาตรฐานวสท.ได้กำหนดรายละเอียดการคำนวณและกำหนดขนาดและจำนวนของทางหนีไฟไว้แล้ว โดยมีหลักการที่สำคัญคือ 1. ประตูหนีไฟจะต้องเปิดออกในทิศทางของการหนีไฟ และ ไม่กีดขวาง การหนีไฟ 2. พื้นที่ที่มีคนอยู่เกิน 50 คน ประตูจะต้องเปิดออกจากห้อง 3. ทางหนีไฟจะต้องมีอัตราการทนไฟอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ดังนั้น ผนังทางหนีไฟจะต้องกั้นยังพื้นถึงพื้น ยกเว้น ทางหนีไฟ ที่เป็นระเบียง เปิดภายนอก 4. ประตูทนไฟมาตรฐานทั่วไปจะมีขนาด 0.90-1.20 ม. และ ประตูทนไฟบานเดี่ยว มีราคาถูก และ กันไฟได้ดีกว่า ประตูทนไฟ ชนิดบานคู่ 5. การแบ่งพื้นที่ป้องกัน และจัดให้มีการหนีไฟทางราบ (Horizontal Exit) เป็นวิธีการลดความเสี่ยงในการหนีไฟ และสอดคล้องกับหลักการทางเลือกหนีไฟ 2 ทาง แม้แต่ในกรณีตึกแถว ก็สามารถใช้ตึกแถว 2 ห้อง โดยคงผนังกั้นระหว่างห้องไว้ และติดประตูถึงกัน ตึกแถวแต่ละห้อง ก็จะเป็นทางออกหนีไฟของอีกห้องหนึ่งได้ 6. ทางหนีไฟจะต้องออกสู่นอกอาคาร 3. บันไดหนีไฟ ลักษณะของบันไดหนีไฟที่ดีคือ 1. จะต้องต่อเนื่องจากชั้นดาดฟ้าจนถึงชั้นล่างของอาคาร 2. จะต้องปิดล้อมด้วยผนังและประตูทนไฟ 3. การเปิดประตูไม่กีดขวางทางสัญจร 4. สามารถป้องกันควันไฟ 5. มีป้ายและสัญลักษณ์บอกชั้น และทิศทางหนีไฟ 6. มีแสงสว่างที่เพียงพอ 7. มีความกว้าง มีราวจับ และขั้นบันไดที่ได้มาตรฐาน สำหรับประเทศไทย บันไดที่ป้องกันควันไฟในบันไดหนีไฟได้ดี คือบันไดที่ระบายอากาศตามธรรมชาติ เช่น บันไดลอยนอกอาคาร หรือบันไดที่ติดกับภายนอกอาคารและมีช่องระบายอากาศ ทุกชั้น ซึ่งไม่มีโอกาส ที่จะใช้งาน ไม่ได้เหมือนกับ ระบบอัดอากาศ ทางกล ที่อาศัยพัดลม ซึ่งอาจจะไม่ทำงานได้ด้วยสาเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเนื่องจากการไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานาน หรือ ระบบการจ่ายไฟฟ้า ขัดข้อง หรือ การที่ท่อส่งลมเล็กและมีสิ่งกีดขวางในกฎกระทรวงระบุให้ขนาดช่องเปิดในแต่ละชั้น จะต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 1.4 ตรม./ชั้น นั้น หมายถึงขนาดช่องเปิดสุทธิ ดังนั้น จึงต้องเผื่อ ขนาดช่องเปิดให้ใหญ่ขึ้น และต้องหักเนื้อที่วัสดุปิดช่องออก ถึงแม้ว่า การใช้หน้าต่างบานกระทุ้ง ทำให้ได้ ขนาดช่องเปิด เต็มที่ (บานกระทุ้งเมื่อเปิดมากกว่า 1/2 ก็จะเทียบเท่ากับการเปิดเต็มที่) แต่หน้าต่าง บานกระทุ้ง ไม่ใช่ช่องเปิด ที่เปิดตลอดเวลา จึงขัดกับ ข้อกำหนดที่ให้ช่องเปิดนี้เปิดตลอดเวลาบันไดหนีไฟควรสร้างจากคอนกรีตเสริมเหล็ก เนื่องจากมีคุณสมบัติในการทนไฟที่ดี และไม่ผุกร่อนสำหรับบันไดหนีไฟนอกอาคาร สามารถก่อสร้างจากเหล็กโครงสร้างได้ ซึ่งสะดวกต่อการก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อต้อง สร้างเพิ่ม ในภายหลัง ส่วน การที่เกรงว่า บันได จะเสียหาย เมื่อถูกความร้อนนั้น คงไม่เป็นปัญหา เนื่องจาก ตัวบันได ได้ถูกป้องกัน ด้วยผนังกันไฟ ไปแล้ว แต่ควรใช้เหล็กโครงสร้างที่แข็งแรง และมีการป้องกันสนิมอย่างดี กฎกระทรวงฉบับที่ 47 ข้อ 5(1) ให้จัดทำบันไดหนีไฟเพิ่มได้สำหรับอาคารเก่า โดยไม่ถือว่าเป็นการดัดแปลงอาคาร ดังนั้น ใน การ ขออนุญาต หากเจ้าพนักงานท้องถิ่น เห็นว่า ไม่สร้างความรำคาญ ไม่ก่อให้เกิดอันตราย ฯลฯ ก็น่าที่จะอนุญาต ให้ก่อสร้าง ได้ประตูทนไฟ ตามกฎหมายห้ามไม่ให้มีธรณีประตู แต่ในความเป็นจริงประตูทนไฟที่มีวงกบทั้ง 4 ด้านแข็งแรงกว่า และ การที่มี ธรณีเตี้ย จะช่วย ป้องกันน้ำ จากการดับเพลิงได้ แต่จะต้องฝังให้วงกบล่างโผล่จากพื้นไม่เกิน 13 มม. หรือ หากเกิน ก็จะต้องทำลาด เอียงอย่างน้อย 1/2 ประตูทนไฟ จะต้องใช้อุปกรณ์ผลักเปิด (Panic Bar หรือ Push Bar) ห้ามใช้กุญแจลูกบิด และมี Door Closer 4. ทางตัน ระยะทางตันตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครคือ 10.00 ม.วัดตามแนวทางเดิน ดังนั้น หากพบว่าเกินกว่านี้ จะต้องแบ่งพื้นที่ป้องกัน เพื่อให้ระยะทางตันได้ตามกำหนด 5. พื้นที่ทางออก จะต้องกว้างขวางพอกับการกระจายคนออกจากอาคาร และมีจุดรวมพลเพื่อตรวจสอบผู้สูญหาย 6. พื้นที่หลบภัย( Refuge Area ) ในกรณีที่อาคารมีความสูงมาก และการอพยพหนีไฟในคราวเดียวทำให้ไม่ปลอดภัย พื้นที่หลบภัยจะเป็นที่พักที่ปลอดภัยในระหว่างการอพยพหนีไฟ 7. ลานเฮลิคอปเตอร์ ลานสำหรับการช่วยเหลือทางอากาศบนดาดฟ้าอาคาร ไม่นับว่าเป็นทางหนีไฟ เนื่องจากการช่วยเหลือทำได้จำกัด และ เสี่ยง ต่อการเกิดอุบัติเหตุ แต่จัดเตรียมไว้ สำหรับเป็นทางเลือกหนึ่งที่จำกัดเท่านั้น ในปัจจุบันกฎกระทรวงฉบับที่ 50 ระบุให้พื้นที่ดาดฟ้า ที่ปราศจากสิ่งกีดขวางนี้ มีขนาดไม่น้อยกว่า 10.00 x 10.00 ม. ในขณะที่ลานเฮลิคอปเตอร์มาตรฐาน จะมีขนาดไม่น้อยกว่า 22.00 x 22.00 ม. และต้องมี ถังรองรับน้ำมัน ที่อาจจะรั่วไหล ออกมาได้ การตกแต่งภายใน ปัญหาที่พบมากเมื่อตรวจสภาพการใช้งานของอาคาร มักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตกแต่งภายใน 1. การกีดขวางทางหนีไฟ การเปลี่ยนสภาพการใช้งานของทางหนีไฟ มักจะก่อให้เกิดปัญหาการกีดขวางทางหนีไฟ เช่น การกั้นห้องบังทางหนีไฟ การเปลี่ยนทางหนีไฟเป็นพื้นที่สำนักงาน นอกจากนี้ ยังพบปัญหาของเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ตกแต่งลำเข้ามาขวางทางหนีไฟ 2. ผนัง ควรเลือกใช้ผนังที่ทำจากวัสดุที่ไม่ติดไฟ และ กำหนดให้ชัดเจนว่า ผนังกันไฟ อยู่ที่ใดบ้าง เมื่อก่อสร้าง ผนังกันไฟแล้ว ควรทำ เครื่องหมาย หรือ ตัวหนังสือแสดงไว้ว่า Fire Wall พร้อมทั้งคำอธิบายว่า “ผนังกันไฟ ห้ามเจาะ โดยไม่ได้รับอนุญาติ” ทางหนีไฟจะต้องมีอัตราการทนไฟอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ดังนั้น ผนังทางหนีไฟ จะต้องกั้นยัน พื้นถึงพื้น ยกเว้น ทางหนีไฟ ที่เป็นระเบียง เปิดภายนอก 3. ประตู 1. ประตูหนีไฟจะต้องเปิดออกในทิศทางของการหนีไฟ และไม่กีดขวางการหนีไฟ 2. พื้นที่ที่มีคนอยู่เกิน 50 คน ประตูจะต้องเปิดออกจากห้อง 3. ประตูทนไฟมาตรฐานทั่วไปจะมีขนาด 0.90-1.20 ม. และ ประตูทนไฟ บานเดี่ยว มีราคาถูก และ กันไฟได้ดีกว่า ประตูทนไฟ ชนิดบานคู่ 4. ป้าย มีป้ายบอกชั้นและทิศทางการหนีไฟที่ชัดเจน 5. อุปกรณ์ดับเพลิง สามารถเห็นได้ชัดเจน และสะดวกต่อการใช้งาน 6. แผนผังอาคาร กฎกระทรวงหลายฉบับ ระบุให้ต้องมีแผนผังอาคารที่ทุกชั้นของอาคาร 7. วัสดุ วัสดุที่ใช้ในการตกแต่งภายใน ควรจะมีคุณสมบัติดังนี้ 1. ไม่ติดไฟ 2. ไม่ก่อให้เกิดควันพิษ 3. ทนไฟ ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ พลาสติก โฟม ไม้อัด พรม ผ้าม่าน หรือ การทำสีเฟอร์นิเจอร์ โดย ใช้ทินเนอร์ 8. การยึดแขวน การยึดแขวนของหนักจะต้องยึดด้วย Steel Expansion Bolt อย่าใช้ชนิดที่เป็นพลาสติก เพราะจะหลุดร่วงลงมาเมื่อถูกความร้อน และต้องยึดให้แข็งแรง เพื่อป้องกันอันตราย ในระหว่าง การหนีไฟ และ การผจญเพลิง 9. การก่อสร้าง เหตุการณ์อัคคีภัยที่เกิดขึ้นในระหว่างการก่อสร้าง และในระหว่างการเร่งงานเพื่อเปิดใช้อาคาร รวมทั้ง การตกแต่งร้านค้าในศูนย์การค้า มีเป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถลดปัญหาลงได้ โดยการจำกัดวัสดุที่ติดไฟได้ในการก่อสร้าง ลดการใช้สารไวไฟ เช่น ทินเนอร์และห้ามเก็บในอาคาร หรือใช้สีน้ำแทนสีน้ำมัน บทส่งท้าย หวังว่าบทความชุดนี้จะสามารถย่อหลัการป้องกันอัคคีภัยสำหรับงานสถาปัตยกรรมที่สำคัญเพื่อสร้างความเข้าใจในเบื้องต้นให้กับท่าน และ ท่านสามารถ ศึกษา รายละเอียด เพิ่มเติม ได้จาก มาตรฐานของวสท. และจากการบรรยายเฉพาะเรื่องจากวิทยากรท่านอื่น ซึ่งท่านสามารถ นำไปใช้เป็นข้อมูล ในการทำงานได้ และ คณะกรรมการ ผู้ดำเนินการ อบรมนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอยู่เสมอ เพื่อจะได้ ปรับปรุง หลักสูตร และ เอกสารประกอบการอบรมให้ดีขึ้นต่อไป หากท่านมีความคิดเห็นเพิ่มเติม ทาง คณะกรรมการ ก็ยินดีที่จะรับฟัง และ จะนำไปใช้ ประโยชน์เมื่อมีการปรับปรุงมาตรฐานของ วสท.ในคราวต่อไป การป้องกันอัคคีภัย จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย และ ทุกฝ่ายจะต้องจริงใจ ที่จะเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา ความไม่ปลอดภัย จาก อัคคีภัย ที่มีอยู่ใน ทุกวันนี้ ที่สามารถ พบเห็นได้อย่างมากมาย ยังนับว่าโชคยังดี ที่เหตุอัคคีภัยร้ายแรงในอาคารสูงไม่มาก เมื่อเทียบกับ จำนวน อาคารที่มีอยู่ และสภาพที่เป็นอยู่ที่ หลายอาคาร อยู่ใน สภาพที่เสี่ยง อย่างน่ากลัว คงไม่ต้องรอให้เกิดอัคคีภัยในอาคารสูงครั้งต่อไป จึงจะเกิดบทเรียน แล้วจึงตื่นตัวกันขึ้นมาอีกเป็นพัก ๆ จะให้ชาวต่างประเทศ มาหัวเราะเยาะว่า สถาปนิก และ วิศวกรไทย ยังอยู่หลังเขา ต่อไปอีกนาน แค่ไหน จะให้เขามาดูถูกว่า กฎหมายและมาตรฐานของไทยล้าหลังอีกนานแค่ไหน ถึงเวลาแล้ว ที่ทุกคนจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับการป้องกันอัคคีภัยอย่างจริงจังเสียที

ที่มา http://www.vecthai.com/forums

Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
No tags yet.
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
bottom of page